ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ เรื่องเล่าจากพงศาวดาร (ตอนที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบพระนคร)
ย้อนรอยแผ่นดินพระจอมเกล้าฯ : เรื่องเล่าจากพงศาวดาร (ตอนที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบพระนคร)
นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) หลักฐานชิ้นสำคัญที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในเดือนพฤษภาคม ๒๓๙๔ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชอนุชา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุธามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่ได้ทรงสถาปนาพระเกียรติยศเสมือนด้วยพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ยิ่งกว่าพระมหาอุปราชองค์ก่อนๆ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษก ในปลายเดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายนศกนั้น ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญ ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้
“… รุ่งขึ้นณวันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๕ ค่ำ (๒๙ พฤษภาคม ๒๓๙๔) พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปกระทำสมโภชด้วยต้นไม้ทองต้น ๑ เงินต้น ๑ พานทอง ๒ ชั้น ๒ สำรับ ให้เป็นสิริมงคล ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดธูปเทียนสิ่งของต่างๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงจัดธูปเทียนสิ่งของ ถวายพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ แล้วพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง ได้รับพระราชทานทั่วกันเป็นอันมาก และการธรรมเนียมเลียบพระนครแต่ก่อนก็มิได้เคยมี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดฯ สั่งให้เสนาบดี หมู่ราชอำมาตย์ จัดพยุหยาตรากระบวนแห่ที่จะเลียบพระนคร เป็นกระบวนแห่ ๕ แถว กระบวนช้าง กระบวนม้า กระบวนเดินเท้า แต่งตัวถือเครื่องศัสตราวุธต่างๆ และให้เจ้าพนักงานแต่งวิถีเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จทรงเลียบพระนคร ผิดกันแต่ที่ทรงช้างพระที่นั่ง ทรงม้าพระที่นั่ง ช้างดั้งช้างเขนไปหน้าเป็นอันมาก
ครั้นณเดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ (วันอังคารที่ ๓ มิถุนายน ๒๓๙๔) เจ้าพนักงานจัดกระบวนแห่เสร็จแล้ว ผูกช้างพระที่นั่ง ชื่อพระยาไชยานุภาพพลาย สูง ๖ ศอกคืบ มีรัตคนผ่านหน้า ซองหางเครื่องมั่นติดประจำยามทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยต่างสี มีผ้าปกหลัง พู่ห้อยหูตาข่ายทองปกหน้าช้าง จึงเอาช้างลงมาประทับกับเกย นายปราบไตรภพเป็นควาญท้ายช้าง ครั้นย่ำรุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา พระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องต้นรณยุทธ ทรงพระมหามาลาประดับเพ็ชร เสด็จขึ้นเกยสถิตเหนือคอช้างพระที่นั่ง ทรงพระแสงของ้าว ฝรั่งแม่นปืนกระบวนหน้าก็ยิงปืนคำนับมาต่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้พระบรมมหาราชวัง ๒๑ นัด พลทหารแห่หน้าหลังพรั่งพร้อม ก็เดินกระบวนแห่ประทักษิณเวียนไปตามกำแพงพระบวรราชวัง มาถึงท้องสนามไชยหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรอยู่บนพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ครั้นเสด็จมาตรงพระที่นั่ง ผันหน้าช้างพระยาไชยานุภาพเข้าไปทรงส่งพระแสงของ้าวให้นายควาญช้างรับไว้ แล้วถวายบังคม ๓ ครั้ง แล้วรับพระแสงของ้าวบ่ายช้างพระที่นั่ง เสด็จเลยไปถึงหน้าวัดพระเชตุพน ประทับช้างพระที่นั่งที่เกย แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงจากคอช้างพระที่นั่ง มาขึ้นพลับพลาประทับพักเปลื้องเครื่องต้นแล้วเสด็จเข้าในพระอุโบสถนมัสการพระพุทธรูป ถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ทั่วทุกองค์เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับมาพลับพลาพัก ฉลองพระองค์พระกรน้อยทรงพระมหามงกุฎเหน็บพระแสงเสน่า ขึ้นทรงม้าพระที่นั่ง ชื่อพระยาราชสินธพผ่านดำ ผูกเครื่องอานผ่านหน้า ซองหางพู่ห้อยใบโพปิดหน้าทำด้วยทองคำจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยต่างสี เสด็จอ้อมประทักษิณวัดพระเชตุพนแลพระบรมมหาราชวัง มาสู่พระบวรราชวัง และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทางสถลมารคนั้น ก็ทรงโปรยเงินพระราชทานให้ประชาราษฎรชายหญิงใหญ่น้อย ซึ่งมาคอยกราบถวายบังคมเชยชมพระบรมโพธิสมภาร และพวกแขกเมืองต่างๆ ซึ่งมาคอยดูนั้นก็ได้รับพระราชทานเงินตรา และดอกไม้ทองดอกไม้เงินด้วย สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ครั้นเสร็จการแล้วมาถึงหน้าเบี้ยหวัด ได้พระราชทานเงินขึ้นไปแจกเบี้ยหวัดข้าราชการที่บนปีละ ๒,๐๐๐ ชั่ง มากกว่าแผ่นดินก่อนๆ ๑,๐๐๐ ชั่ง แล้วจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จารึกพระนามพระพุทธปฎิมากรห้ามสมุทร ๒ พระองค์ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวในบรมโกษฐ ถวายพระนามไว้ว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ ๑ ถวายพระนามว่า พุทธเลิศหล้าสุลาลัย พระองค์ ๑ จึงถวายพระนามจารึกใหม่ว่า พระพุทธเลิศหล้านภาลัย…”
ภาพ : พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
(จำนวนผู้เข้าชม 875 ครั้ง)