มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๐๗ วันประสูติเสด็จอธิบดี
มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๐๗ วันประสูติเสด็จอธิบดี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี หรือที่เรียกกันว่า เสด็จอธิบดี ทรงเป็นอธิบดีหญิงพระองค์แรกของสยาม มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๖๘ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๐๗ มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน ๔ พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแดง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเขียว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบาน และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสทวีปยุโรป และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน พระองค์เจ้านภาพรประภาทรงได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมโขลน ขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงวัง ซึ่งชาววังพากันเรียกว่า “เสด็จอธิบดี”
เสด็จอธิบดีนอกจากจะทรงบังคับว่าราชการฝ่ายในแล้ว ยังได้ทรงทำหน้าพระอภิบาลพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา คือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ในรัชกาลที่ ๖ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ยังทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายในทั่วไป และในตอนปลายรัชสมัยทรงรับหน้าที่เป็นผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลในวาระสำคัญต่างๆ ในฐานะพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ และในรัชกาลนี้ทรงได้รับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๑ เป็นพระเกียรติยศ
ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ได้ทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินในตำแหน่งอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายในสืบมาถึง ๓ รัชกาล เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้ทรงกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี และยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๑ เป็นพระเกียรติยศ
ภายหลังการเปลี่ยนการปกครอง เมื่อพุทธศักราช ๒๕๗๕ เสด็จอธิบดี ได้ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระนัดดา ไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย จนถึงพุทธศักราช ๒๔๘๙ จึงเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมพระญาติในราชสกุลบริพัตร
ในพุทธศักราช ๒๔๙๓ เมื่อคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ ๙ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ในฐานะที่เป็นพระบรมวงศ์ฝ่ายในที่มีพระชันษามาก พระองค์พร้อมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พระขนิษฐา เป็นผู้ลาดพระที่ถวายในคราวนั้นด้วย
ครั้นเสด็จกลับมาเมืองไทยแล้ว ทรงประทับที่วังสวนผักกาด ต่อมาเมื่อมีพระชันษาสูงขึ้น รัชกาลที่ ๙ มีรับสั่งให้สร้างตำหนักเล็กอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อเสด็จอธิบดีจะได้ไปประทับและพระองค์ก็เสด็จไปประทับอยู่ที่นั้นตราบสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๑ สิริพระชันษา ๙๔ ปี
ภาพ : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี
(จำนวนผู้เข้าชม 1722 ครั้ง)