มหามกุฏราชสันตติวงศ์ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
มหามกุฏราชสันตติวงศ์ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอก ที่มาของพระนามเนื่องมาจากวันที่พระองค์ประสูตินั้นฝนตกหนักมากราวกับฟ้ารั่ว เหมือนนาคให้น้ำบริเวณนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามว่า " มนุษยนาคมานพ" ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๐๓
ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีพระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ที่พระนครคีรี พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพได้โดยเสด็จด้วย ทรงเล่าไว้ในหนังสือ"พระประวัติตรัสเล่า" ว่า
"...เราจำได้ว่าเมื่อครั้งโสกันต์พี่พักตร์พิมลพรรณที่เมืองเพ็ชร์บุรี วันหนึ่งเราตามเสดจลงจากเขามไหศวรรย์ ไปรับกระบวรแห่ไม่ทัน แม่นมอุ้มไปดักกลางทาง สอนให้เราทูลขอให้ทรงรับ ท่านให้หยุดพระราชยานรับเราขึ้นด้วย ประทับที่ไหน พวกเราก็นั่งล้อมเบื้องพระปฤษฎางค์ฯ เรามีความอิ่มใจว่า แม้เรายังเล็ก เราก็พอเปนประโยชน์แด่ทูนกระหม่อมของเราได้บ้าง..."
ในรัชกาลที่ ๕ ทรงผนวชแล้วทรงแปลพระปริยัติธรรมเป็นเปรียญ ๕ ประโยค ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์ธรรมวรยุต ศรีวิสุทธิคณานุนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถบพิตร ทรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๒๔ ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เสมอสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกา ทรงตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยและทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฑปรินายกองค์ที่ ๑๐ แล้วเลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงฯ พระนามตอนต้นอย่างเดิมเปลี่ยนท้ายพระนามว่า บริสัษยนารถสมณุดม บรมบพิตร เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๔๙
ในรัชกาลที่ ๖ ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก เป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ศรีสุคตขัตติยพรหมจารี สรรเพชญรังศีกัลยาณวากย์ มนุษยนาค อเนญชาริยวงษ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนาถประนับดา มหามกุฏกษัตรราชวรางกูร จุฬาลงกรณ์ปรมินทรสูรครุฐานิยภาดา วชิราวุธมหาราชหิโตปัธยาจารย์ ศุภศีลสารมหาวิมลมงคลธรรมเจดีย์ สุตพุทธมหากวี ตรีปิฏกาทิโกศล เบญจปฎลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเษกาภิษิต วิชิตมารสราพกธรรมเสนาบดี อมรโกษินทรโมลีมหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์ สิทธรรถนานานิรุกติประติภาน มโหฬารเมตตาภิธยาศรัย พุทธาทิรัตนตรัยสรณารักษ์ เอกอัครมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิปัตยพุทธบริษัทเนตร สมณคณินทราธิเบศสกลพุทธจักรกฤตโยปการ มหาปาโมกขประธานสถาวีรวโรดม บรมนาถบพิตร ทรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระมหาสมณ เป็นประธานสงฆบริษัททั่วราชอาณาเขต เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าประธานสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร มีพระนามปรากฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีนามอย่างสังเขปว่า สมเด็จพระสังฆราช เป็นประเพณีสืบมา แต่พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ที่ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกดำรงสมณศักดิ์ดังกล่าว กลับเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระราชวงศ์ ไม่ปรากฏพระเกียรติคุณในส่วนสมณศักดิ์นั้นเลย ทั้งทรงพระราชดำริว่าเป็นพระอุปัธยาจารย์ เป็นมหาสังฆปรินายกมา ๑๐ ปีแล้ว มีคุณูปการในทางพุทธศาสนายิ่งนัก และประจวบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันประสูติ สมควรจะสถาปนาพระนามในสมณศักดิ์ให้ปรากฏพระเกียรติยศยิ่งขึ้น จึง โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๖๔
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๖๔ สิริพระชันษา ๖๒ ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
อ้างอิง
ศิลปากร, กรม. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, ๒๕๕๔.
วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. พระประวัติตรัสเล่า. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราช
วิทยาลัย, ๒๕๐๘. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอกหม่อมเจ้านิวัทธวงศ์ เกษมสันต์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘)
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๘ น่า ๑๐ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๖๔. ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า.
[ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/A/10.PDF
เรียบเรียง : ณัฐพล ชัยมั่น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
(จำนวนผู้เข้าชม 4818 ครั้ง)