...

มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๑ มกราคม ๒๔๐๗ วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี

     มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๑ มกราคม ๒๔๐๗ วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี

     สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๖๖ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๐๗

     พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น ๖ พระองค์ ได้แก่ 

 พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย 

 พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ)

 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี)

 พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า)

 พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี)

 พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์) 

     เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนแต่เพียงน้อย ครั้นถึงในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระเมตตากรุณา ใช้สอยติดตามเสด็จ ได้ทรงเห็นทรงฟังพระราชกระแสรับสั่ง ตลอดจนการงานในพระราชสำนัก ปรกอบกับยังทรงพระอุตสาหะหมั่นสอบถาม และศึกษาอยู่เสมอ “...จึงได้ทรงทราบสรรพวิชาอันควรจะทราบได้ ถ้าแม้นจะไม่ดีกว่า ก็เสมอเหมือนผู้ที่มีความรู้และศึกษาเล่าเรียนอย่างดีแล้วได้...”

     ครั้นถึงพุทธศักราช ๒๔๒๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ในฐานะพระมเหสี มีพระอิสริยยศสืบมาตามลำดับกล่าวคือ พระนางเธอ เสาวภาผ่องศรี ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๒๓ เป็น พระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวี พุทธศักราช ๒๔๓๗ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระอัครราชเทวี และในคราวที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์

     ถึงรัชกาลที่ ๖ เฉลิมพระปรมาภิไธย เป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ออกพระนามกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระพันปีหลวง

     นอกจากจะทรงมีส่วนสำคัญในการทำนุบำรุงบ้านเมืองเป็นกำลังส่งเสริมพระบรมราชสวามีด้วยความจงรักภักดี และซื่อสัตย์กตเวทีอย่างสูงสุดแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ยังทรงมีพระราชหฤทัยตั้งมั่น ศรัทธาในพระพุทธศาสนา บริจาคพระราชทรัพย์ทำนุบำรุงพระอารามทั้งในกรุงและหัวเมืองมิได้ขาด ทั้งยังบริจาคพระราชทรัพย์ถวายเป็นนิตยภัตแก่พระสงฆ์ ถวายข้าวสาร อาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์สามเณร ตลอดจนพระราชทานค่าน้ำประปาแก่พระอารามอยู่เสมอ

     สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ทรงมีพระราชดำริเห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างยิ่ง ด้วยทรงเห็นเป็นเหตุแห่งความเจริญของบ้านเมือง จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ตั้งโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกุลสตรีทั้งหลาย จะได้ศึกษาเล่าเรียน มีโรงเรียนสำคัญอันได้ทรงตั้งขึ้น และพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์ อาทิ โรงเรียนราชินี โรงเรียนเสาวภา โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ (ต่อมาคือคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ในหัวเมือง ได้แก่ โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐมทั้งยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์ และทรงเป็นธุระในการจัดตั้ง สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม มาตั้งแต่แรก และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาของสภากาชาดมายาวนาถึง ๒๖ ปี ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากบำรุงโรงพยาบาลหลายแห่ง ทรงมีพระมหากรุณาแก่สตรีมีครรภ์พระราชทานเงินแก่ผู้มาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลศิริราชทุกคน นับว่าทรงมีบทบาทในด้านสาธารณสุข การศึกษาและการสังคมสงเคราะห์มาตลอดพระชนมชีพ

     สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๖๒พระชนมายุ ๕๗ พรรษาถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๖๓ 

 

ข้อมูล : ณัฐพล  ชัยมั่น / วสันต์  ญาติพัฒ  ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

 

อ้างอิง 

จิรวัฒน์  อุตตมกุล. พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ :  มติชน, ๒๕๕๐. 

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหา จุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชทานแด่ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินี นาถ พระพันปีหลวง ในเวลาที่ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ประพาสยุโรป พ.ศ.๒๔๔๐.กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี, ๒๕๕๗.

ศิลปากร, กรม.จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่ง ศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๔๕.

________. เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๕๐๗.

________.ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ .กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.ลาดพร้าว, ๒๕๕๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 6981 ครั้ง)