...

ตำนานกระดาษ
          กระดาษ เป็นสิ่งจำเป็นที่มีบทบาทสำคัญและเกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์นับแต่อดีตกาล เป็นเครื่องมือช่วยจารึกเรื่องราวต่าง ๆ  ใช้เขียนอักษรโต้ตอบเพื่อการสื่อสาร  รับใช้ศาสนา  ความเป็นอยู่และประเพณี  หรือแม้แต่บันทึกประวัติศาสตร์เป็นมรดกให้ลูกหลานได้รู้จักและภาคภูมิต่อ ชาติพันธุ์ของตน  ก่อนยุคสมัยการใช้กระดาษ  มนุษย์พยายามทดลองค้นหาวัสดุที่มีผิวเรียบชนิดต่าง ๆ  มาใช้  เช่น  นำดินเหนียวมาปั้นเป็นแผ่น  ใช้กระดูกสัตว์  งาช้าง  กระดองเต่า  หิน  โลหะ  ซี่ไม้ไผ่  เปลือกไม้  ใบไม้และผ้าไหมเป็นต้น
 
         ใครค้นพบวิธีทำกระดาษเป็นชาติแรก
          แม้ว่าสิ่งต่าง ๆ  ที่นำมาใช้บันทึกจะเป็นวัสดุที่ทนทาน  แต่ก็ยากลำบากต่อการเก็บรักษา  สิ้นเปลืองเนื้อที่  มีน้ำหนักมาก  เคลื่อนย้ายไม่สะดวก  จึงเป็นเหตุให้มีผู้คิดค้นวัสดุอื่นขึ้นมาใช้แทน  ราว  2,000 - 8,000  ปี  ก่อนคริสต์ศักราช  ชาวอียิปต์โบราณได้ประสบความสำเร็จจากการนำต้น  ปาปิรัส  (Papyrus) มา บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ  ให้ชาวโลกได้รับทราบประวัติและวัฒนธรรมอียิปต์อย่างแพร่หลาย  แต่นักวิจัยรุ่นหลังยังไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้  คือ  กระดาษ  เนื่องจากวัสดุที่ใช้มิได้เป็นแผ่นเนื้อเดียวกัน  เพียงแต่นำเยื่อมาติดซ้อน ๆ  กัน
          สิ่งที่ชาวโลกยอมรับว่าเป็นกระดาษที่แท้จริง  คือ  กระดาษที่เป็นแผ่นเนื้อเดียวกัน  ค้นพบครั้งแรกในโลกที่ ประเทศจีน ประมาณ  ค.ศ.  105  (พ.ศ.  648)  และที่เชื่อกันว่า  ขุนนางไซลั่น (Is'ai Lun)  เป็นผู้คิดค้นวิธีทำกระดาษเป็นคนแรกนั้นไม่ถูกต้อง  เนื่องจากมีการค้นพบกระดาษที่มีอายุเก่าแก่กว่านั้นประมาณ  140  ปี  ก่อนคริสต์กาล  ขุนนางผู้นี้อาจเป็นผู้เสนอการทำกระดาษเป็นทางการต่อ  จักรพรรดิโฮ  (Ho)  และเป็นผู้ส่งเสริมและควบคุมรับผิดชอบการผลิตกระดาษให้กับราชสำนัก  แต่การทำกระดาษถูกเก็บเป็นความลับไว้ในแผ่นดินจีนยาวนานกว่า  500  ปี  จึงแพร่สู่เกาหลีและญี่ปุ่นเมื่อ  ค.ศ.  770  (พ.ศ.  1313)  และแพร่หลายเข้าสู่ยุโรปทางเส้นทางการค้าไหม  โดยเข้าสู่อียิปต์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่  10  และกระจายเข้าสู่ยุโรปอย่างแท้จริงราวกลางคริสต์ศตวรรษที่  12  ผ่านทางประเทศสเปนและอิตาลี  จากนั้นจึงมีการใช้กระดาษแทนหนังแกะ
 
         โรงงานกระดาษแห่งแรกของโลก
          สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สร้างโรงงานทำกระดาษขึ้นเป็นชาติแรกเมื่อ  ค.ศ.  1690  (พ.ศ.  2233)  ณ  เมืองฟิลาเดลเฟีย  ส่วนเครื่องจักรทำกระดาษประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ  ค.ศ.  1804  (พ.ศ.  2347)  โดย  เฮนรี่และซิลี  ฟูดรินิแอร์  (Fourdrinier)  สองพี่น้องชาวฝรั่งเศส
 
         ทำไมจึงเรียกว่ากระดาษ
          คำว่า  กระดาษ  แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า  Paper  ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า  "Papyrus"  ก็คือ  ต้นปาปิรัส  ที่ชาวอียิปต์นำมาบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ  นั่นเอง
แต่คำว่า  กระดาษ  นี้ไม่ใช่คำไทย  หากเป็นคำที่แปลงจากคำภาษาโปรตุเกสที่เรียกว่า  Cartas  เข้าใจว่าโปรตุเกสเป็นผู้นำกระดาษแบบฝรั่งเข้ามาก่อนสมัยอยุธยา  คำว่ากระดาษ  จึงติดปากใช้กันมาตั้งแต่สมัยนั้น
          สมุดไทย  สมุดข่อย  ประเทศไทยมีกระดาษใช้มาแต่โบราณกาลแล้ว  คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  แต่ขณะนั้นคนไทยยังไม่รู้จักคำว่า  กระดาษ  ก็เรียกวัสดุนี้ว่า ใบสมุด  เพราะคำว่า  สมุด  หมายถึง  เล่ม  อย่างคำว่า  สมุดไทย  เป็นต้น
          สมัยต่อมาได้วิวัฒนาการมาใช้เปลือกต้นข่อยตำทำเป็นแผ่นยาว ๆ  แล้วย้อมด้วยน้ำมะเกลือให้เป็นสีดำ  ตากให้แห้ง  จึงเขียนด้วย  รงค์  เรียกว่า  สมุดข่อย  ทั้ง ยังมีการเขียนด้วยเหล็กปลายแหลมลงใบลาน  ภายหลังคนไทยภาคเหนืออาจได้รับอิทธิพลการทำกระดาษสาจากประเทศจีน  ได้คิดทำกระดาษสาจากปอสาหรือต้นสาด้วยกรรมวิธีแบบง่าย ๆ  จึงได้กระดาษสาที่มีคุณภาพพอใช้
          ไม่ปรากฏหลักฐานว่าคนไทยเริ่มทำกระดาษมาแต่เมื่อใด  จะมีเพียงหนังสือฉบับเก่าที่สุดของไทยที่เขียนลงบนกระดาษ  คือ  พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ  ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ไม่ทำให้เราทราบเวลาที่แน่ชัดได้เลย
 
          เพราะเหตุใดจึงไม่เรียก  "ห้องสมุด"  ว่า "ห้องหนังสือ"
          เนื่องจากแต่โบราณนานมา  คนไทยบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดาร  ตำรายา  โคลงกลอน  ฯลฯ  ลงสมุดทั้งสิ้น  สมุดนี้เรียกว่า  สมุดไทย  ทำ เป็นกระดาษจากเปลือกต้นข่อยเป็นแผ่นยาว ๆ  พับทางขวางทบกลับไปกลับมาคล้ายผ้าจีบ  ลักษณะสมุดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีทั้งชนิดกระดาษขาวและกระดาษดำ  ดังนั้น  จึงเรียกหอที่ใช้เก็บสมุดว่า  ห้องสมุด
          ต่อมาเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพิมพ์จากตะวันตก  สิ่งที่เก็บอยู่ในห้องสมุดจึงเป็นหนังสือแทบทั้งสิ้น  แต่คำที่ใช้เรียก  ห้องสมุด  หรือ  หอสมุด  ก็มิได้เปลี่ยนตามเป็นห้องหนังสือหรือหอหนังสือ นับว่าดีแล้วไม่เช่นนั้นคงต้องเปลี่ยนชื่อห้องไปเรื่อย ๆ  ตามวัสดุที่เก็บ  คำว่า  ห้องสมุด  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติขึ้นมาใช้ตรงกับคำภาษา อังกฤษว่า  Library         โรงงานกระดาษแห่งแรกของประเทศไทย
          ประมาณสงครามโลกครั้งที่หนึ่งราว  พ.ศ.  2460  ขณะ นั้นกระดาษนำเข้าจากต่างประเทศมีเข้ามาจำหน่ายน้อยและราคาแพงมาก   ครั้งแรกโรงงานที่เริ่มต้นผลิตกระดาษยังคงใช้คนงานผลิตด้วยมื อ คิดเฉลี่ยแล้วปีหนึ่งผลิตกระดาษได้เพียง  2.8  ตัน  การผลิตกระดาษด้วยแรงคนนี้เป็นการสิ้นเปลืองเวลาและได้ผลน้อย  ดังนั้นในระยะต่อมา  พ.ศ.  2465  จึง ได้เปลี่ยนเป็นการผลิตกระดาษด้วยเครื่องจักร  โรงงานกระดาษแห่งแรกของประเทศไทยสร้างด้วยเงินทุนกรมแผนที่  ณ  ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก  ท่าพายัพ  ตำบลสามเสน  จังหวัดพระนคร  (กรุงเทพมหานคร)
 
          หลักการทำกระดาษ
          คือ  การทำเซลลูโลสเส้นใยให้เป็นแผ่นหนาสม่ำเสมอ  เหนียวมีแผ่นหน้าเรียบและมีสีที่เหมาะสม  ดังนั้น  เซลลูโลสเส้นใยจึงเป็นมูลฐานของกระดาษทุกชนิด  วัตถุดิบในการนี้เดิมทีเดียวใช้  ลินิน แต่เมื่อความต้องการกระดาษมีมาก  ลินินมีไม่พอจึงได้มีการคิดค้นเพื่อจะใช้พืชอย่างอื่นเป็นวัตถุดิบแทนจนกระทั่งเมื่อประมาณ  พ.ศ. 2422  ได้มีการใช้  ไม้ เป็นวัตถุดิบเพื่อนำเยื่อกระดาษมาผลิตกระดาษนั่นเอง  พืช เส้นใยที่เหมาะสมผลิตเยื่อกระดาษ  นอกจากต้นไม้ชนิดต่าง ๆ  แล้วก็มี  สน  ปอแก้ว  ปอกระเจา  ปอสา   ปอมนิลา  หญ้าขจรจบ  หญ้าขน  ไผ่เพ็ก  ฟางข้าว  ต้นข้าวฟ่าง  ต้นข้าวโพด  เศษฝ้าย  ชานอ้อย  เศษปอ  ต้นกระเจี๊ยบแดง  ต้นหม่อน  ใบสับปะรด  ผักตบชวา  เป็นต้น
 
          กระดาษมูลสัตว์
          จากปัญหาสิ่งแวดล้อมของมูลสัตว์ที่ถ่ายเป็นปริมาณสูงมากต่อหนึ่งวัน  เช่น  ช้างกินอาหาร  วันละ  200 - 300  กิโลกรัม ต่อเชือก  ฟาร์มเลี้ยงม้า  เลี้ยงแพะ  ที่สัตว์ขับถ่ายมูลออกมามากมายในแต่ละวันมากมายจนต้องคิดเอามูลสัตว์มา ทำให้เกิดประโยชน์ด้วยแนวคิดว่ากระดาษทำมาจากเยื่อไม้  ฉะนั้น  หากนำมูลสัตว์  เช่น  มูลช้าง  มูลม้า มูลแพะ  ซึ่งเป็นมูลที่ย่อยสลายจากพืชจำพวกอ้อย  ใบไผ่  กล้วย  หญ้ามาผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตด้วยมือเหมือนกระดาษสาทุกประการ  เพียงแต่เติมหัวน้ำหอมลงไปก็น่าจะทำเป็นกระดาษได้  การทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก  เพราะผลิตออกมาแล้วใช้ได้ดี  มีความละเอียดเหนียวแน่นทนทาน  ปราศจากกลิ่นเหม็น  หากนำกระดาษสามาเปรียบเทียบกันจะดูไม่ออกเลยว่าชิ้นไหนเป็นกระดาษสา  ชิ้นไหนเป็นกระดาษมูลสัตว์  สามารถนำมาผลิตสินค้าตามต้องการได้  เช่น  ทำดอกไม้ประดับ  ทำกล่อง  ทำร่ม โคมไฟฟ้า  สมุดไดอารี่  ปกหนังสือ  และใช้ห่อของขวัญ
 
 

(จำนวนผู้เข้าชม 29980 ครั้ง)


Messenger