เสาชิงช้ากรุงเทพมหานคร
เสาชิงช้ากรุงเทพมหานคร
ลักษณะ : เสาชิงช้าที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประกอบด้วยส่วนของกระจังด้านบน 1 รายการ กระจังหูช้าง 2 รายการ ขื่อเอก (คานสำหรับผู้เชือกชิงช้า) 1 รายการ เสาและเสาตะเกียบ 8 รายการ และหัวเม็ดจากเสาตะเกียบ 1 รายการ
เสาชิงช้าสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีเดือนสอง ในพระราชพิธีสิบสองเดือน คือ พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวายเพื่อรับเสด็จพระอิศวรและพระนารายณ์ เทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลงจากสวรรค์ พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วันพราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวร แล้วผูกพรตชำระกาย สระผมเตรียมรับเสด็จพระอิศวร แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมปวายจะจัดในเดือนอ้าย (ประมาณเดือนธันวาคม) ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ (ประมาณเดือนมกราคม) ด้วยว่าให้พ้นหน้าน้ำหลาก ถนนมีแต่โคลนเลนไปเสียก่อน เมื่อถึงเดือนยี่ดินแห้งดีเหมาะแก่การจัดพิธีสำคัญนี้
พิธีโล้ชิงช้าเป็นการแสดงตำนานสร้างโลก ที่กำหนดให้พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก แล้วพระอิศวรเป็นผู้ทดทอบความแข็งแรงของโลก โดยให้พญานาคขึงตัวเองยึดภูเขาสองลูก แล้วดึงเขย่าไปมา พระอิศวรจะยืนบนภูเขาด้วยพระบาทข้างเดียว ถ้าภูเขาสั่นสะเทือน จนพระอิศวรล้มแสดงว่าโลกไม่แข็งแรงมั่นคง ดังนั้น เสาชิงช้าสองต้นเปรียบเสมือนภูเขา ผู้ขึ้นไปโล้ชิงช้าสมมติให้แทนพญานาค ซึ่งผู้โล้จะสวมหมวกรูปพญานาคด้วย จากนั้นไกวชิงช้าเป็นสัญญาณว่าโลกแข็งแกร่งเพียงพอ
พิธีโล้ชิงช้าเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงประจำปีของพระนคร มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่หลายวัน ออกร้านการละเล่น การแสดงมหรสพ มีต่อเนื่องยาวนานจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย พิธีโล้ชิงช้าจึงถูกยกเลิกไปในที่สุด ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ
เสาชิงช้ามีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพระนคร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ตั้งแต่แรกสร้างกรุงเทพมหานคร จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 หน้า 5281
ขนาด : ยาว 832 เซนติเมตร สูง 155 เซนติเมตร
ชนิด : ไม้สักทาสี และโลหะ
อายุ/สมัย : รัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2463
ประวัติ/ตำนาน : สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสาชิงช้าต้นเดิมชำรุด บริษัท หลุยส์ ตี เลียวโนเวนส์ จำกัด พ่อค้าไม้รายใหญ่ได้มอบไม้ซุงท่อนใหญ่ให้สร้างเสาชิงช้าต้นใหม่ แล้วเสร็จวันที่ 12 เมษายน 2463 มีการบูรณะในปี 2490 เนื่องจากเหตุไฟไหม้ บูรณะอีกครั้งในปี 2513 โดยเปลี่ยนไม้เฉพาะเสาใหม่ ส่วนกระจังบนและกระจังหูช้างยังคงเป็นของเดิม ต่อมาปี 2525 มีการบูรณะอีกครั้งเพื่อฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พอถึงปี 2539 โคนเสาชำรุดมาก สำนักการโยธา กรุงเทพมหานครจึงบูรณะด้วยการสวมปลอกเหล็กรัดโคนเสายึดโครงสร้างหลัก เมื่อถึงปี 2548 ไม่อาจบูรณะเสาชิงช้าต้นนี้ได้อีก จึงทำพิธีรื้อถอนแล้วส่งเก็บรักษาในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550
แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=52865
ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th
(จำนวนผู้เข้าชม 565 ครั้ง)