ชิ้นส่วนประดับสะพานเฉลิมหล้า

         ชิ้นส่วนประดับสะพานเฉลิมหล้า

         แบบศิลปะ : รัตนโกสินทร์

         ลักษณะ : ชิ้นส่วนประดับสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพระปรมาภิไธยย่อ จปร สีเขียว ภายในกรอบวงรีล้อมกรอบด้วยลายจุดไข่ปลาและพวงมาลัยแบบตะวันตก ทั้งสองข้างกรอบวงรีตรา จปร ประดับด้วยลูกกรงแบบลูกมะหวดฝรั่ง ชิ้นส่วนนี้เดิมเคยประดับที่กึ่งกลางราวสะพานเฉลิมหล้า 56 มีชื่อเรียกอย่างลำลองว่า สะพานหัวช้าง ในปัจจุบัน

         สะพานเฉลิมหล้า 56 เป็นสะพานชุดเฉลิม สะพานที่ 15 สะพานชุดเฉลิมนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 17 สะพาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร วันละ 1 สลึง เป็นค่าก่อสร้างสะพานชุดเฉลิมในแต่ละปี โดยเริ่มตั้งแต่พระชนมพรรษาปีที่ 42 สะพานเฉลิมหล้าเป็นสะพานที่สร้างขึ้นเนื่องในพระวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 56 เป็นสะพานที่สร้างข้ามคลองบางกะปิหรือคลองแสนแสบ ถนนพญาไท (ปัจจุบันอยู่ใกล้ แยกปทุมวัน) เชื่อมทางระหว่างพระนครให้ต่อกันทั้งตอนเหนือและตอนใต้ โดยสะพานนี้อยู่ติดกับวังสระปทุม (ออกแบบโดยสถาปนิกและวิศวกรที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามารับราชการในประเทศไทยในขณะนั้น ) และถือว่าเป็นสะพานสุดท้ายที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ (อนนต์ ศรีศักดา,82 – 89)

         สะพานเฉลิมหล้า 56 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ดำริสร้างต่อจากสะพานเฉลิมโลก 55 (ที่นำเทคโนโลยีการสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กเข้ามาจากชาติตะวันตก) ทำให้สะพานมีความแข็งแรงและทนทานต่อการใช้งาน ตัวคานเป็นรูปโค้ง หัวสะพานทั้งสี่มุมมีรูปปั้นช้าง 4 หัว ประดับทั้ง 4 ด้าน (ภานุวัฒน์ จ้อยกลัดและสุนิติ สุภาพ, 22)

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสะพานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2452 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 42 หน้า 1842 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน ร.ศ. 128 เรื่อง การเสด็จพระราชดำเนินเปิดสะพานเฉลิมหล้า 56 ซึ่งในปีนี้พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัยกาธิราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีพระชนมายุมงคลเสมอรัชกาลที่ 2 และฉลองวัดอรุณราชวรารามด้วย ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีช้างเผือกในแผ่นดินถึง 4 เชือก จึงพระราชทานนามว่า สะพานเฉลิมหล้า ซึ่งมาจากพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

         ปัจจุบันสะพานเฉลิมหล้า ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอน 61 ลงวันที่ 18 มีนาคม พุทธศักราช 2518 โดยอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้พยายามรักษาลักษณะเดิมของสะพานไว้เป็นอย่างดี แม้มีการขยายถนน และสะพานเพื่อให้รับกับความเจริญของบ้านเมืองและการคมนาคมที่คับคั่งขึ้น

         ขนาด : ชิ้นที่ 1 ยาว 270 สูง 153 หนา 90

         ชิ้นที่ 2 ยาว 128 สูง 100 หนา 35

         ชนิด : ปูนปั้น เหล็ก

         อายุ/สมัย : พุทธศักราช 2452

         ประวัติ/ตำนาน : ชิ้นส่วนของสะพานเฉลิมหล้า 56 รับมอบจากกองโบราณคดี เมื่อพุทธศักราช 2556 สันนิษฐานว่า ยกย้ายมาช่วงทำการขยายถนนจาก 5 ช่องทาง เป็น 8 ช่องทาง ประมาณพุทธศักราช 2544

 

 

แสดงภาพวัตถุหมุน คลิกที่นี่ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/3d_object/?obj=52884

 

ที่มา: https://smartmuseum.finearts.go.th

(จำนวนผู้เข้าชม 111 ครั้ง)

Messenger