ไตรจีวร

"เอาผ้าขาวมาวัดตัดสบง เย็บลงฝีเข็มเหมือนเล็มเลี่ยน

ตัดจีวรสไบตะไกรเจียน เย็บทับจับเนียนเป็นเนื้อเดียว” 

จากขุนช้างขุนแผน ตอน พลายแก้วบวชเณร

         ไตรจีวร ถือเป็นปัจจัยเครื่องอัฏฐบริขารที่พระภิกษุใช้สอย โดยพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุอธิษฐาน คือ ตั้งไว้เป็นของประจำตัว ประกอบด้วย อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) และสังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อนนอก) 

         ในต้นพุทธกาลพระภิกษุคงใช้ผ้านุ่งห่มตามที่หามาได้ โดยเก็บเอาผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ ผ้าคลุกฝุ่น  และผ้าห่อศพ เรียกว่า “ผ้าบังสกุล”  ต่อมาพระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้รับผ้าจากฆราวาส ตามศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกา และเพื่อบรรเทาความยากลำบากของพระภิกษุ 

         รูปแบบของสีจีวรตามพระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า... ทรงห่มบังสุกุลจีวรอันประเสริฐสีแดง มีวรรณะละม้ายยอดอ่อนแห่งต้นไทร (นิโครธ)” และ “..แม้พระมหาเถระทั้งหลาย มีท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะเปนต้น ก็ห่มบังสุกุลจีวรมีสีแดงเหมือนเมฆ” แสดงให้เห็นว่าน้ำย้อมจีวรที่ได้จากการเคี่ยวสีย้อมจากธรรมชาติ ทำให้มีความเข้มอ่อนแตกต่างกัน แต่ยังคงเป็นโทนสีแดงหรือเรียกว่าสีกรักแดง 

         พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตใช้น้ำย้อมสำหรับผ้ากาสาวพัสตร์ คือ ผ้าจีวรที่ย้อมด้วยน้ำฝาด  ๖ ชนิด อันเป็นการรักษาคุณภาพของผ้า เนื่องจากยางไม้บางประเภทมีคุณสมบัติทางยา ทำให้เชื้อราไม่เจริญเติบโต มีสีเข้มไม่เปื้อน และไม่เก็บความชื้น ทั้งนี้ยังกำหนดข้อห้ามใช้จีวรบางสีเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากนักบวชของสำนักอื่นๆ 

         การเย็บจีวรของพระภิกษุยังไม่มีรูปแบบชัดเจน โดยนำเศษผ้ามาเย็บต่อกันตามความสามารถของพระภิกษุสำหรับพอนุ่งหุ่มได้ แต่ยังดูไม่เป็นระเบียบ พระพุทธเจ้าจึงได้มอบให้พระอานนท์กำหนดการตัดเย็บจีวรตามรูปร่างผืนนาข้าวสำหรับเป็นแบบแผนเดียวกัน เรียกว่า ผ้าขัณฑ์ คือ ผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระสงฆ์ตัดจีวรเป็นกระทง มีลักษณะการตัดผ้าเป็นชิ้นๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกระทงนา แล้วเย็บติดกัน แต่ละชิ้นเรียกว่าขัณฑ์ โดยต้องตัดผ้าตามจำนวนเลขคี่ เรียกว่า ขัณฑ์ขอน

         พระธรรมวินัยได้บัญญัติขนาดของจีวร ในรตนวรรคสิกขาบทที่ ๑๐ ความว่า “อนึ่งภิกษุใด ให้ทำจีวรมีประมาณเท่าสุคตจีวรหรือยิ่งกว่า เป็นปาจิตตีย์ มีอันให้ตัดเสีย นี้ประมาณแห่งสุคตจีวรของพระสุคตในคำนั้น โดยยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ ด้วยคืบสุคต” หากจีวรมีขนาดย่อมกว่า แล้วพอดีกับบุคคลผู้ครองนั้นไม่มีข้อห้าม สำหรับพระภิกษุไทยนั้น ประมาณความยาวไม่เกิน ๖ ศอก กว้างไม่เกิน ๔ ศอกของผู้ครอง 

         จีวรสีแก่นขนุน ๕ ขัณฑ์ นี้ ปักอักษรบริเวณกระทงความว่า “ผ้าผืนนี้ของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริยรักธอเมื่อจุลสักราชได ๑๑๖๔ ปีจอจัตวาศก ด้ายหนักเขดลสลึงสองไพธอเป็นเนื้อเอกมือ ๛” 

         โดยสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (พระเชษฐภคินีในรัชกาลที่ ๑) กับเจ้าขรัวเงิน แซ่ตัน มีบทบาทเกี่ยวกับการสงคราม โขน-ละคร และการปฏิสังขรณ์วัดเลียบ ภายหลังพระราชทานนามว่า “วัดราชบูรณะ” 

         จากลักษณะการเย็บทับจับเนียนเป็นเนื้อเดียว แสดงให้เห็นฝีมือการทอผ้าเนื้อละเอียดและการเย็บที่ต้องอาศัยความประณีตบรรจง มีขนาดต้องตามพระธรรมวินัย และอาจพอเหมาะกับรูปร่างของบุคคลผู้ครองจีวรด้วย

จีวรผืนนี้ตามประวัติระบุว่า พระอาจารย์รวม วัดยาง ตำบลคลองกระแซง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี มอบให้เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๕๔.

สุนทรี สุริยะรังษี.  จีวร : การตัดเย็บจากอดีตถึงปัจจุบัน. วารสารครุศาสตร์ปริทรรศน์  ๓,๒(พฤษภาคม-สิงหาคม) ๒๕๕๙

พระสมุห์จักรพงศ์ จนฺทสีโล. ศึกษาการทรงผ้าจีวรของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาในเถรวาท. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๖๑

ถมรัตน์ สีต์วรานนท์. ปทานุกรมผ้าไทย ใน “วารสารฝ้ายและสิ่งทอ” ๕,๙ (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ๒๕๒๕

ยิ้ม ปัณฑยางกูร. ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ ๒ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, ๒๕๒๕

(จำนวนผู้เข้าชม 298 ครั้ง)