เงินพดด้วง
         “เงินพดด้วง” ในสมัยอยุธยา
        เงินพดด้วงเป็นเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขาย เดิมเรียกว่า “เงินกลม” แต่ด้วยปลายขาเงินที่งอและสั้นขดกลมคล้ายตัวด้วง จึงนิยมเรียกว่า “เงินพดด้วง” มีการใช้งานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยามีการผูกขาดระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐได้มีการวางระบบเงินตราและควบคุมมาตรฐานทางการเงินเพื่อควบคุมการค้าและการคลัง ทำให้รัฐมีสิทธิ์ขาดในการผลิตเงินตราสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า พร้อมกับมีการกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน
        ดังปรากฎในกฎหมายตรามดวงและกฎหมายลักษณะโจร ความว่า “ผู้ใดทำเงิน ทองแดง เงินพราง เงินรวงทองพราง ทองแดงทองอาบและแกะตราปลอม ตอกตราพดด้วงเทียม พิจารณาเป็นสัจให้ตัดนิ้วมือเสียอย่าให้กุมค้อนคีมได้...” ทั้งนี้ยังมีบทลงโทษครอบคลุมถึงบุคคลใกล้เคียง คือ หากมีผู้สมรู้ให้ทำและรับซื้อขายให้ทวนด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ส่วนผู้อยู่เรือนใกล้เคียงและรู้เห็นแต่ไม่แจ้งกรมพระนคร ให้ใส่ขื่อ ๓ วัน แล้วทวนด้วยลวดหนัง ๑๕ ที...
        เงินตราที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่โบราณสถานต่างๆ ภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนใหญ่คือเงินพดด้วงและหอยเบี้ย โดยรูปแบบเงินพดด้วงในสมัยอยุธยา จะมีลักษณะเป็นทรงกลมมาตรฐาน มีรอยประทับตราที่มีความคมชัด ปลายขาด้านล่างแยกออกห่างจากกัน รอยบากมีขนาดเล็กลงจากสมัยสุโขทัยและหายไปในที่สุด รูปแบบดังกล่าวนี้ยังส่งต่อมาให้การผลิตพดด้วงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย
ตราสัญลักษณ์ที่ตอกประทับลงบนเงินพดด้วงสมัยอยุธยา บริเวณด้านหน้าและด้านบน จำแนกเป็น ๒ ประเภท คือประเภทที่ ๑ ตราประจำแผ่นดิน ประทับบริเวณด้านบนของพดด้วง มีข้อสังเกต ๒ ชนิด คือ ตราจักรหกแฉกหรือตรากงล้อธรรม และตราจักรแบบจุด ที่มีลักษณะแปดจุดล้อมรอบจุดกลางใหญ่ 
        สัญลักษณ์ตราประจำแผ่นดิน อาจมีความหมายถึง พระธรรมจักรหรือ กงล้อแห่งพระธรรม แทนเครื่องหมายของการนับถือพุทธศาสนา คล้ายกับสมัยสุโขทัย ทั้งนี้อาจแทนนัยยะของ “จักร” อาวุธของพระนารายณ์ตามคติเทวราชา โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์ 
ประเภทที่ ๒ ตราประจำรัชกาล ประทับอยู่ด้านหน้าของพดด้วง ส่วนมากไม่มีหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์บ่งบอกรูปแบบที่เปลี่ยนตามรัชกาลอย่างชัดเจน อาจพบได้มากกว่าสามสิบรูปแบบ แต่สามารถจำแนกได้ ๓ หมวดหมู่ ดังนี้ 
กลุ่มที่ ๑ เป็นรูปดอกบัว กลีบดอกบัว หรือพุ่มข้าวบิณฑ์ กลุ่มที่ ๒ เป็นรูปสัตว์ อาทิ ช้าง หอยสังข์ ครุฑ และกลุ่มที่ ๓ เป็นรูปราชวัตร คือจุดอยู่ในกรอบสามเหลี่ยม
        ปัจจัยที่รูปแบบของตราดอกบัวในสมัยอยุธยามีรายละเอียดแตกต่างกัน มาจากแม่ตราประทับมีความหลากหลาย ซึ่งอาจเกิดจากฝีมือช่างผู้ผลิต หรือเป็นการทดแทนแม่ตราที่ชำรุด ซึ่งเป็นการผลิตจากการแกะด้วยมือ จึงทำให้มีการลดทอนรายละเอียดลง แต่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นตราดอกบัว 
ทั้งนี้รูปแบบของตราดอกบัวของสมัยอยุธยา ยังมีความคล้ายคลึงกับตราพุ่มข้าวบิณฑ์ ตราอุณาโลมหรือตราบัวอุณาโลม มักอยู่ในกรอบพุ่มคล้ายดอกบัว มีอักขระ “อุ” รูปร่างคล้ายสังข์อยู่ตรงกลาง และต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เรียกว่าดอกบัวผัน หมายถึงความมั่งคั่ง 
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบตราประทับบนพดด้วงของรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งยังมีความคล้ายคลึงกับอยุธยานั้น อาจแฝงนัยยะเรื่องการพยายามสืบทอดราชธานีต่อจากกรุงศรีอยุธยาผ่านระบบเงินตราด้วย 
 
ภาพประกอบบทความ  : ตัวอย่างเงินพดด้วงสมัยอยุธยา ภายในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
 
 
อ้างอิง
กรมธนารักษ์. คู่มือเพื่อพิจารณาคัดแยกดวงตราบนเงินพดด้วงในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ที่ได้รับมอบจากสำนักบริหารเงินตรา เข้าถึงได้จาก https://asset-link.treasury.go.th/th/operationmanual/
ศิลปวัฒนธรรม. รู้จัก “เงินพดด้วง” เงินตราสะท้อนความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและการค้าสมัยสุโขทัย เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_61704...

(จำนวนผู้เข้าชม 6926 ครั้ง)

Messenger