ช้างต้น
เมื่อจริตงอนงาไอราพต จะเหี้ยนหดนั้นมีอยู่ที่ไหน
ได้เอื้อนออกเเต่จะงอกงามไป ด้วยมิใช่เช่นงาที่สามาน ฯ
เข้าสู่เดือนกันยายน ๒๕๖๖ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำลังจะเปิดให้บริการศึกษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย แอดมินจึงขอนำเสนอโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ คือ
ลำดับที่ ๑ - งาช้างต้นพระบรมคชลักษณ์ (พลายพนมกร) ในรัชกาลที่ ๓ อยู่บนฐานไม้กลมปิดทองล่องชาด พร้อมข้อความสลักบริเวณโคนงาว่า “พระบรมคชลักษณ์งากิ่งนี้หนัก ๕๐ สลึง ๘ เฟื้อง”
ลำดับที่ ๒ - ภาพจิตรกรรมเจ้าพระยาไชยานุภาพ (พลายปานพลแสน) และควาญช้าง ซึ่งเจ้านครเชียงใหม่ถวาย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นระวางในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผลงานของขุนประเสริฐหัตถกิจ (สาย)
โบราณวัตถุทั้งสองชิ้นนี้ เดิมเคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ปัจจุบันได้นำมาเก็บรักษาในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ : คลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทอินทรียวัตถุ ๒
คำว่า "ช้างต้น" หมายถึง ช้างที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือช้างศึกที่ทรงใช้ออกรบ ช้างเผือกซึ่งมีลักษณะต้องตามตำราคชลักษณ์อย่างสมบูรณ์ และช้างสำคัญซึ่งมีลักษณะมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ยังไม่สมบูรณ์ทุกส่วน
คติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธศาสนาถือว่าช้างเผือกเป็นสัตว์มงคล สัญลักษณ์ของเมฆฝน ทำให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งธัญญาหาร ภักษาหาร และผลาหาร นับเป็นหนึ่งในรัตนะ ๗ ประการเกิดขึ้นได้ด้วยบุญญาบารมีของพระจักรพรรดิแห่งแคว้นประเทศนั้น
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างต้น เมื่อศักราช ๑๒๐๖ (พ.ศ.๒๓๗๗) ความว่า
“...ครั้น ณ วันอาทิตย์เดือน ๘ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังถวายช้างพลายพนมกรช้าง ๑ สูง ๔ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว งาขึ้นขวาปลายงาขึ้นทับกัน ขึ้นระวางเป็น พระบรมคชลักษณ์ ศักดิสารจุมปราสาท ชาติรัตกัมพล มงคลสรรพอนันตคุณ ศรีสุนทรเลิศฟ้า...”
จากตำราพระคชศาสตร์ได้กล่าวถึงกำเนิดช้างมงคลและการแบ่งช้างมงคลออกเป็น ๔ ตระกูล ตามนามของเทพผู้ให้กำเนิด คือ พรหมพงศ์ อิศวรพงศ์ วิษณุพงศ์ และอัคนิพงศ์
พระบรมคชลักษณ์นั้นจัดเป็นช้างเผือกตระกูลอิศวรพงศ์ มาจากความเชื่อว่า ครั้งพระนารายณ์บรรทมอยู่ ณ เกษียณสมุทร บังเกิดมีดอกบัวผุดขึ้นทางพระนาภี พระอิศวรได้ประทานแบ่งดอกบัวให้พระพรหม พระนารายณ์ และพระอัคนี ส่วนพระองค์โยนเกสรดอกบัวแปดส่วนลงบนพื้นโลก แล้วเนรมิตรให้เกิด “อัฐคชาธาร” คือช้างแปดหมู่ เป็นศุภลักษณ์ของวรรณะกษัตริย์ หากช้างตระกูลนี้มาสู่บารมีจะทำให้บ้านเมืองเจริญด้วยทรัพย์และอำนาจ
ดังนั้นพระราชบัญญัติรักษาช้างป่าพุทธศักราช ๒๔๖๔ จึงกำหนดไว้ว่า “...ผู้ใดมีช้างสำคัญ หรือช้างสีประหลาด หรือช้างเนียมแล้ว โดยเหตุที่ตนจับได้หรือโดยแม่ช้างของตนตกลูกออกมา หรือด้วยเหตุอื่นอย่างใดต้องนำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จให้ตามสมควร...” แต่หากปล่อยเสียหรือปิดบังซ่อนเร้นช้างนั้นไว้ ขัดขืนไม่นำขึ้นทูลถวาย “...มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท และโทษนี้ไม่ลบล้างการที่ช้างนั้นจักพึงต้องริบเป็นของหลวง...”
ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญนั้น ประกอบด้วย พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางพระราชทานนามช้างและพระราชพิธีสมโภชขึ้นโรงใน ในขั้นตอนการจารึกนามช้างสำคัญจะมีการกำหนดชื่อที่บ่งบอกถึงถิ่นกำเนิด คชลักษณ์ พระบารมี และสิริมงคลต่างๆ
ข้อน่าสังเกตคือ เดิมคำนำหน้าช้างสำคัญ มักใช้คำว่า “พระบรม” ตามด้วยนาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา จึงนิยมใช้คำว่า “พระเศวต” นำหน้าช้างพลาย อาทิ พระเศวตวรวรรณ พระเศวตสุวภาพรรณ พระเศวตคชเดชน์ดิลก ส่วนช้างพังนิยมใช้คำว่า “พระเทพ” หรือ “พระศรี” และมีคำลงท้ายนามด้วยคำว่า “เลิศฟ้า” หากเป็นช้างสำคัญที่ลักษณะมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ยังไม่สมบูรณ์ทุกส่วนเหมือนช้างเผือก จะใช้คำว่า “เจ้าพระยา” อาทิ เจ้าพระยาไชยานุภาพ (พลานปานพลแสน) นั้นเอง
ที่มาจาก :
พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ.2464. เข้าถึงเมื่อ ๒ กันยายน ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%CA33/%CA33-20-2503-002u.pdf
มิวเซียมสยาม. “ช้างเผือก ต้องมีสีขาวเท่านั้นจริงหรือ”. เข้าถึงเมื่อ ๕ กันยายน ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=177&CONID=4246
สถาบันพระปกเกล้า. “ช้างสำคัญในรัชกาล” เข้าถึงเมื่อ ๔ กันยายน ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ช้างสำคัญในรัชกาล
หอสมุดแห่งชาติ. “ช้างมงคล”. เข้าถึงเมื่อ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖, เข้าถึงได้จาก https://www.nlt.go.th/service/1565
(จำนวนผู้เข้าชม 2147 ครั้ง)