จารึกเมืองศรีเทพ

         “จารึกเมืองศรีเทพ” ตามประวัติระบุว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบที่เมืองโบราณศรีเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ตรงกับ ร.ศ.๑๒๕ เมืองศรีเทพปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกนี้ส่งมาเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๐

          มีลักษณะเป็นเสากลมรูปคล้ายตะปูหัวเห็ดหรือคล้ายดอกบัวตูม ทำจากหินทรายเนื้อละเอียด จารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน ๑ ด้าน มี ๖ บรรทัด มีคำว่า “ขีลัง” ซึ่งแปลว่า “หลัก” โดยปรากฏในหนังสือเรื่อง เที่ยวที่ต่างๆ ภาค ๓ เล่าเรื่องเที่ยวมณฑลเพชรบูรณ์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หน้า ๒๐ ความว่า 

          “ ...ศิลาจารึกพบที่เมืองศรีเทพครั้งนี้แปลกมาก สัณฐานคล้ายตะปูหัวเห็ด ข้างปลายที่เสี้ยมแหลมเป็นแต่ถากโคลน สำหรับฝังดินขัดเกลี้ยง แต่ที่หัวเห็ดจารึกอักษรไว้ที่นั้นเป็นอักษรคฤนถ์ชั้นก่อนหนังสือขอม แต่ตรงที่จารึกแตกชำรุดเสียมาก ได้เอาศิลานี้มาที่กรุงเทพ (หอวชิรญาณ) ให้อ่าน ดูเป็นภาษาสันสกฤตมีคำว่า ขีลัง ซึ่งแปลว่าหลัก จึงเข้าใจว่าศิลาแท่งนี้คือหลักเมืองศรีเทพแบบโบราณ เขาทำเป็นรูปตะปูตอกไว้ลงในแผ่นดิน ประสงค์ว่าให้มั่นคง...”  และต่อมานายชะเอม แก้วคล้าย มีการอ่านชำระใหม่  เป็นคำว่า “ขิลํ” จากถ้อยความว่า “เวตฺตย ขิลํ สโจทฺยม” แปลว่า  เขาเป็นผู้รู้ความรุ่งเรืองทั้งสิ้น

          เนื่องจากเนื้อหินด้านหนึ่งของจารึกแตกหาย ข้อความจารึกแต่ละบรรทัดจึงเหลืออยู่เฉพาะช่วงกลาง เนื้อหาที่เหลือโดยสรุปกล่าวถึงการสรรเสริญบุคคลว่าเป็นผู้เปี่ยมด้วยความรู้และยังเป็นผู้มีธรรม ซึ่งอาจเป็นพระราชาหรือเชื้อพระวงศ์ที่ปกครองเมืองศรีเทพ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๑

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. “จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์, ๒๕๒๙.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.  “เรื่องเที่ยวที่ต่าง ภาค ๓ เล่าเรื่องเที่ยวมณฑล เพชรบูรณ์และเรื่องความไข้ เมืองเพชรบูรณ์”. กรุงเทพฯ: วิศัลย์การพิมพ์, ๒๕๑๙.

 

ดูรายละเอียดสำเนาจารึกได้ที่ : ฐานข้อมูลเอกสารโบราณ จารึก สมุดไทย http://manuscript.nlt.go.th/.../ctrlObjec.../mid/1855/id/207

หรือติดตามอ่านได้ในหนังสือที่ระลึก “คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”

(จำนวนผู้เข้าชม 1236 ครั้ง)