กาน้ำเปลือกไข่นกกระจอกเทศ

         กาน้ำเปลือกไข่นกกระจอกเทศ

         เดิมเป็นทรัพย์สินของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ (ต้นราชสกุลสวัสดิวัฒน์) ตกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับมาจากกระทรวงการคลัง เมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๘๒ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้ส่งเก็บรักษาในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓

         ตัวกาน้ำทำจากเปลือกไข่นกกระจอกเทศ ประกอบเข้ากับทองแดงหล่อเป็นเชิง หู ฝา และพวย ตกแต่งเป็นลายเถาไม้ ฝาทำเป็นลายดอกไม้พร้อมก้านดอกประดับโซ่คล้องกับหูกาน้ำ มีหูปละพวยโค้งสูง งานประณีตศิลป์ชิ้นนี้งดงาม หายาก มีมูลค่าสูง โดยสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อการสะสมของชนชั้นสูง ที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๕ โดยเฉพาะสิ่งของจากวัตถุเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา

         ปัจจุบันจัดแสดงในนิทรรศการ  “Museum Unveiling” เรื่องลึกเบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ไทยในอดีตที่เก็บสะสมโบราณวัตถุหายาก

         ในพุทธศักราช ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียมหลวง”จากในพระบรมมหาราชวังมายังพระราชวังบวรสถานมงคล “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” ในยุคนั้นจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภททั่วไป การจัดแสดงวัตถุจึงเป็นการรวบรวมวัตถุจากทุกสาขาวิชา อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ และวัตถุทางธรรมชาติวิทยา เพื่อนำเสนอของแปลก ของหายาก เครื่องราชบรรณาการ และศิลปวัตถุอันมีค่า ตอบสนองคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งแปลว่า นานาวัตถุ

         ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๙ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงปรับปรุงการจึงแสดงพิพิธภัณฑสถาน เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทโบราณคดีและศิลปะ จึงมีการเคลื่อนย้ายและจัดส่งโบราณวัตถุศิลปวัตถุส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับโบราณคดีไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น สัตว์ชำแหละเนื้ออาบน้ำยาส่งไปโรงเรียนเพาะช่าง ตัวอย่างแร่ธาตุส่งให้กรมโลหะกิจ และตัวอย่างสินค้าพื้นเมืองส่งไปให้กรมพาณิชย์ เป็นต้น

         ส่วนโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ไม่สามารถจำแนกให้หน่วยงานอื่นๆ ได้เก็บรวบรวมไว้ในคลังพิพิธภัณฑสถาน ทั้งนี้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ของสะสมของชนชั้นสูงส่วนหนึ่ง ได้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและใช้ในการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วย

 

 

อ้างอิง

ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. “ดุริยางค์แห่งราชสำนัก : นิทรรศการรำลึก ๑๔๐ ปี พิพิธภัณฑ์ไทย”. ศิลปากร. ๕๗ ๔ (กันยายน-ตุลาคม) ๒๕๕๗. 

กรมสิลปากร, วัธนธัมไทย เรื่องของไนพิพิธภันทแห่งชาติ. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันท, ๒๔๘๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 390 ครั้ง)