น้ำต้น
น้ำต้นนั้นเป็นภาษาถิ่นเหนือตรงกับ คนโท ในภาษากลางนั่นเอง น้ำต้นที่กล่าวถึงนี้พบจำนวน ๒ ใบ ในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำคัญคือบริเวณส่วนคอมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทย จำนวน ๔ บรรทัด ความว่า “กองทัพฝ่ายเหนือ ๑๒๕๐ ทำ เมืองหลวงพระบาง” พร้อมลงลายมือชื่อกำกับว่า “สุรศักดิ์” เมื่อตรวจสอบประวัติที่มาจากสมุดทะเบียนระบุเพียงว่าเป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาแต่เดิม
เมื่อสืบย้อนประวัติศาสตร์จากหลักฐานปีบนจารึกพบว่าช่วงเวลานั้นมีสงครามสำคัญคือสงครามปราบฮ่อ ซึ่งสงครามดังกล่าวยืดเยื้อมาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๑๘ แล้ว กระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในการประชุมเสนาบดี ว่า “...หม่อมฉันก็จะขอจัดกองทัพเป็นอย่างใหม่...จะจัดกองทัพเป็น ๒ กอง คือ กองทัพฝ่ายเหนือและกองทัพฝ่ายใต้ กองทัพฝ่ายเหนือนั้นหม่อมฉันจะให้พระนายไวยฯ เป็นแม่ทัพ...ส่วนแม่ทัพฝ่ายใต้นั้น หม่อมฉันจะให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพ...”
กองทัพทั้งสองที่ถูกส่งไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ และได้รับชัยชนะ พร้อมจับบุตรเจ้าเมืองไลลงมากรุงเทพฯ เนื่องด้วยเจ้าหมื่นไวยวรนารถเห็นว่าเมืองไลเอาใจออกห่างสยาม จึงหวังให้เจ้าเมืองไลยอมอ่อนน้อม แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เมืองไลยกทัพมาพร้อมกับฮ่อธงดำเข้าปล้นและทำลายเมืองหลวงพระบางเพราะเข้าใจว่าพี่น้องของตนถูกจับไว้ที่เมืองแห่งนี้ ทำให้ พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงส่งทัพเพื่อขึ้นไปรักษาความสงบและป้องกันการเข้าแทรกแซงดินแดนลาวของฝรั่งเศส โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ขณะนั้นได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพระยาสุรศักดิ์มนตรี) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยการยกทัพขึ้นไปครั้งนี้เป็นการยืนยันสิทธิของไทยในดินแดนลาวต่อฝรั่งเศส พร้อมส่งคณะทำแผนที่เพื่อปักปันเขตแดน มีการจัดการบ้านเมือง เช่น ทำสำมะโนประชากร ฝึกกองทหาร ตัดถนน ตั้งโรงพยาบาล กระทั่งบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยจึงเดินทัพกลับและถึงกรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๒
การยกทัพไปคราวนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้เขียนบันทึกในไดอารี่ไว้ตอนหนึ่งช่วง พ.ศ. ๒๔๓๑ ว่า “ระหว่างราชการสงบในคราวฤดูฝนคราวนี้ ข้าพเจ้าว่างราชการ ได้ประชุมกันคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองขึ้นตามกำลังและความสามารถ...ได้สังเกตเห็นดินเมืองนครหลวงพระบางเหนียวดี จึงได้ทำอิฐและกระเบื้องขึ้นไว้...ส่วนอิฐและกระเบื้องในบริเวณคุ้มและศาลาว่าการนั้น ได้มีตรานามแม่ทัพและจุลศักราชที่ได้ยกทัพขึ้นไปปราบฮ่อ เพื่อไว้เป็นที่ระลึก...” อีกทั้งยังพบหลักฐานยืนยันบันทึกดังกล่าว คือ แผ่นอิฐปูพื้นพระอุโบสถ วัดจอมเพชร วัดไทยขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง มีจารึกเนื้อความเช่นเดียวกันตอกประทับไว้บนอิฐทุกแผ่น ดังนั้นอาจสันนิษฐานว่าน้ำต้นคู่นี้คงผลิตขึ้นหลังการปราบฮ่อลุล่วงแล้ว และเป็นคราวเดียวกับที่ทำนุบำรุงบ้านเมืองที่นครหลวงพระบาง
อย่างไรก็ตาม จากรูปแบบของน้ำต้น ที่ตกแต่งด้วยการรมดำขัดมัน รูปแบบเช่นนี้ไม่นิยมนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากการรมดำทำให้เกิดกลิ่นเขม่าควันเจือปนกับน้ำ ดังนั้นน้ำต้นรูปแบบดังกล่าวหากเป็นชาวบ้านมักใช้ถวายเป็นพุทธบูชา และหากเป็นเจ้านายมักใช้เป็นเครื่องประกอบยศ
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของน้ำต้นร่วมกับบันทึกความทรงจำของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงสันนิษฐานว่า หน้าที่ของน้ำต้นนี้ไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อบรรจุน้ำสำหรับดื่มกิน แต่ผลิตขึ้นและนำกลับมายังกรุงเทพฯ เพื่อเป็นของที่ระลึกในการยกทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบางนั่นเอง
บรรณานุกรม
- กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๔ พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๕. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตฯ (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล ณ กรุงเทพ) พ.ศ. ๒๔๖๕.
- ไกรฤกษ์ นานา. หน้าหนึ่งในสยาม : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๖.
- แจ้งราชการ. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒. ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๓๐.
- เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม). ประวัติการของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เล่ม ๑ มปพ, ๒๔๗๖. คุณหญิงสงวน สุรศักดิ์มนตรี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีฯ ๘ เมษายน ๒๔๗๖.
- ประวัติการของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เล่ม ๒ มปพ, ๒๔๗๖. คุณหญิงสงวน สุรศักดิ์มนตรี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีฯ ๘ เมษายน ๒๔๗๖.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ. ๒๔๓๑ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๐๙.
- พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. เรื่องตั้งเจ้าพระยา ในกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ:
หอพระสมุดวชิรญาณ, ๒๔๖๑.
- พระวิภาคภูวดล, เขียน. สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์, แปล. บุกเบิกสยาม : การสำรวจของพระวิภาคภูวดล
(เจมส์ แมคคาร์ธี) พ.ศ. ๒๔๒๔ - ๒๔๓๖ กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, ๒๕๖๑.
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. พจนานุกรมภาษาล้านนา เชียงใหม่: สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, ๒๕๕๐.
- มัณฑนา ชอุ่มผล. “ลายมือ” และ “ลายเซ็น” ของรัชกาลที่ ๔.” ใน ศิลปวัฒนธรรม ๒๔, ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖.
- ประกาศให้เสนาบดีลงชื่อข้างท้ายท้องตรา. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕ วันเสาร์ เดือนสี่ ขึ้นแปดค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก ๑๒๕๐.
- ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๙ (ประชุมพงศาวดาร ภาค ๙ และภาค ๑๐ ตอนต้น) กรุงเทพฯ: คุรุสภา, ๒๕๐๗.
- เปลี่ยนตำแหน่งแลเพิ่มบรรดาศักดิทหารที่ไปราชการทัพ. ๒๔๓๐, ๒๔ พฤศจิกายน. ราชกิจจานุเบกษา. [ออนไลน์]. เล่ม ๔ หน้า ๒๘๐ สืบค้นเมื่อ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕. จาก: ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/035/280.PDF
- สุรพล ดำริห์กุล. แผ่นดินล้านนา กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๙
- อัญชลี โสมดี และคณะ. “น้ำต้น” อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของอนุภาคลุ่มน้ำโขง กรุงเทพฯ: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๗.
- Liu Xu Yin และ ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “ข้อถกเถียงในประวัติศาสตร์นิพนธ์ เกี่ยวกับการต่อสู้ของ
ตู้เหวินซิ่วในประเทศจีน ค.ศ. ๑๙๕๕-๒๐๑๕.” ใน ศาสตร์แห่งการจำ ศิลป์แห่งการลืม เล่ม ๒ ปัตตานี: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๕๙.
ดาวน์โหลดไฟล์: น้ำต้น.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 479 ครั้ง)