พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องใหญ่พระมหาจักรพรรดิ
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องใหญ่พระมหาจักรพรรดิ
ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ (ประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว)
นางโทชิโกะ อุรุชิมะ ชาวญี่ปุ่นได้มอบคืนโบราณวัตถุให้แก่ประเทศไทย เมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕
__________________________________________
พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นยกในระดับเสมอกับพระอุระ ทรงเครื่องราชาภรณ์ ได้แก่ มงกุฎ กรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ธำมรงค์ ปั้นเหน่ง สุวรรณกระถอบ ทองพระบาท และฉลองพระบาท ครองจีวรห่มคลุม ขอบจีวรตกแต่งแถวลายกระจัง ส่วนสบงมีแถบหน้านางประดับชายไหวและชายแครง ประทับบนฐานปัทม์ในผังกลม
กรรมวิธีหล่อพระพุทธรูป นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑) มีการนำโลหะ “ทองล่ำอู่เขียว” ซึ่งเป็นโลหะที่ใช้ในการหล่อเครื่องเรือกลไฟแทนการใช้สัมฤทธิ์ (ทองม้าล่อ) หรือทองเหลืองที่ใช้แต่เดิม ทั้งได้พัฒนาเทคนิคการตกแต่งลวดลายพระพุทธรูปด้วยแม่พิมพ์หินสบู่ ทำให้ลวดลายมีความละเอียดคมชัด ส่วนพระพักตร์พระพุทธรูปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะมีลักษณะอย่างหน้าหุ่น กล่าวคือ พระพัตร์นิ่งสงบ ไม่แสดงอารมณ์ อันเป็นลักษณะเด่นของพระพุทธรูปในช่วงเวลานี้
พระพุทธรูปองค์นี้เก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันนำไปจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
.
อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๖
(จำนวนผู้เข้าชม 664 ครั้ง)