ประติมากรรมพระสาวก
ประติมากรรมพระสาวก
คำว่า “สาวก” มาจากภาษาบาลี แปลว่า ผู้ฟังถ้อยคำหรือศิษย์ พระสูตรและอรรถกถาได้อธิบายถึงคุณสมบัติของพระสาวกไว้ว่า พระสงฆ์สาวกที่รับฟังโอวาทและอนุสาสนีของพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ ผู้ปฏิบัติดีและได้รู้ธรรมตามพระพุทธเจ้า
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจำแนกประเภทตามเกณฑ์ตัวเลข คือ พระอริยบุคคล ๒ จำพวก คือ พระสาวกที่ต้องศึกษาเพื่อมรรคผลที่สูงขึ้นกับพระอรหันตผลผู้ไม่ต้องศึกษาแล้ว ส่วนพระอริยบุคคล ๔ จำพวก คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ สุดท้ายพระอริยบุคคล ๘ จำพวก คือ พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหันตตมรรค และอรหันตตผล ซึ่งเป็นการจำแนกตามขั้นของการบรรลุธรรมอย่างละอียด
ทั้งนี้ยังจำแนกตามการตั้งความปรารถนาสำหรับการบรรลุธรรม และระยะเวลาการบำเพ็ญบารมี ดังนี้ “พระอัครสาวก” คือ ผู้ตั้งความปรารถนาเพื่อการบรรลุธรรมตั้งแต่สมัยอดีตพุทธ พร้อมด้วยความเป็นเลิศในด้านปัญญาและสมาธิ มี ๒ องค์ ส่วน “พระมหาสาวก” (อสีติมหาสาวก) คือ พระสาวกผู้ใหญ่ทรงไว้ด้วยคุณธรรม อภินิหาร และเป็นผู้หลุดพ้นจากวัฏฏะสงสารด้วยศรัทธา ประกอบกับมีปัญญารู้แจ้งเห็นธรรมตามพระพุทธเจ้า มี ๘๐ องค์ และ “พระปรกติสาวก” คือ พระสาวกที่ไม่ได้บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นอัครสาวกและมหาสาวก แต่ปรารถนาจะบรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้า
การสร้างประติมากรรมพระสาวกมาจากความเชื่อทางศาสนาเรื่องพระรัตนตรัย ประกอบด้วย “พระพุทธ” คือ พระพุทธเจ้า “พระธรรม” คือ หลักธรรมคำสอน และ”พระสงฆ์” คือพระสาวก จึงมีการสร้างประติมากรรมพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางและพระสาวกล้อมรอบ
ประติมากรรมพระสาวกในล้านนา มีตั้งแต่สมัยหริภุญชัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๙ เป็นประติมากรรมพระสาวกพนมมือนั่งขัดสมาธิเพชรทำจากดินเผา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระสาวก ต่อมาเริ่มทำจากหินผลึกและแก้วมีค่าสำหรับอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา และได้รับความนิยมมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ ที่มีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ของชาวพม่าและไทใหญ่ โดยนำช่างฝีมือเข้ามาก่อสร้างวัด เจดีย์ หรืออาคารศาสนสถานตามรูปแบบศิลปะชาติพันธุ์ของผู้อุปถัมภ์ (คำว่า “พระยาตะก่า” ใช้เรียกผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัดวาอาราม) สำหรับอุทิศให้รุกขเทวดา ผีสาง เจ้าป่าเจ้าเขา และวิญญาณบรรพบุรุษ
พระพุทธรูปสร้างจากวัสดุโลหะผสม ทองเหลือง หินทราย หินอ่อน และรักสมุก ส่วนประติมากรรมพระสาวกทำจากวัสดุชั้นรองลงมาคือ “ไม้” ตกแต่งด้วยการลงรัก ทาชาด ปิดทอง และประดับกระจก มีลักษณะครองจีวรแบบริ้วธรรมชาติซ้อนทับกันหลายชั้น อยู่ในท่าพนมมือหรือเท้าแขน นั่งพับเพียบด้วยกิริยาสงบและอ่อนน้อมถ่อมตน อันเป็นรูปแบบศิลปะพม่าสมัยมัณฑเลย์ที่มีเอกลักษณ์และความงดงาม มีการจัดวางจำนวนตามรูปแบบของพระสาวกตามความเหมาะสมของอาคาร สามารถพบเห็นได้ในวัดเขตชุมชนเชื้อสายพม่า-ไทใหญ่ อาทิ วัดจองคา(ไชยมงคล) วัดศรีรองเมือง วัดศรีชุม และวัดป่าฝาง
ทั้งนี้ปัจจุบันยังได้รับความนิยมจากนักสะสม และผู้ค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จึงมีการผลิตสำหรับเป็นสินค้าส่งออกจำนวนมาก โดยภายในห้องศาสนวัตถุไม้ของคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้รับมอบประติมากรรมพระสาวกจากกรมศุลากรมาเก็บรักษาไว้ มีรูปแบบหลากหลายอิริยบถทั้งยืน นั่ง และมีการครองจีวรแตกต่างกัน ถ้ามีโอกาสจะนำมาเล่าในครั้งต่อไป
.
อ้างอิง
สิขรินทร์ ล้อเพ็ญภพ. รูปแบบและคติการสร้างประติมากรรมพระสาวกในศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๑-๕ วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๙
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะพม่า. กรุงเทพฯ: มติชน. ๒๕๕๗
.
เผยแพร่โดย พลอยไพลิน ปุราทะกา ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 638 ครั้ง)