Trick or Treat

        ทุกวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นหนึ่งวันพิเศษของชาวตะวันตก ด้วยเชื่อว่าเป็นวัน “ปล่อยผี” กำแพงที่กั้นระหว่างโลกปัจจุบันและโลกแห่งวิญญาณหายไป ทำให้วิญญาณอาจมาปะปนอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ ซึ่งไทยเองก็มีความเชื่อทำนองนี้เช่นกัน เช่น วันพระ วันโกน จะเป็นวันที่วิญญาณจะออกมาหาส่วนบุญ สำหรับกิจกรรมวันฮาโลวีนในประเทศไทยก็นับว่าให้ความสำคัญในระดับหนึ่ง มักจะจัดการประกวดแต่งชุดแฟนซีเพื่อสร้างความบันเทิงแล้วแต่สถานที่จะให้ความสำคัญ
       สำหรับชาวคลังกลางฯ เราก็อยากนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับผีๆ ให้เข้ากับบรรยากาศวันฮาโลวีนเช่นกัน เมื่อพูดถึงสถานที่ที่เก็บโบราณวัตถุเอาไว้อย่างพิพิธภัณฑ์คนก็มักจะคิดถึงเรื่องผีที่มากับสิ่งของ ทว่าวันนี้... เพจเราไม่ได้จะมาเล่าเรื่องผีให้ทุกคนฟัง แต่เราจะมาเล่าถึงวัตถุที่คนเชื่อว่าไล่ผีได้!!!
       วัตถุชิ้นนั้นคือ “ขวานฟ้า” นั่นเอง เรามาทำความรู้จักขวานที่คนทั่วไปรู้จักกันก่อน 
       ขวานฟ้า คือ หินขัดคมที่คนทั่วไปเชื่อว่าเป็นขวานที่ตกลงมาจากฟ้า บ้างก็มีตำนานว่าขวานนี้เป็น “ขวานของรามสูร” ที่ไล่ขว้างนางเมฆลาที่กำลังล่อแก้ว แต่ขว้างเท่าไหร่ก็ไม่โดนเสียที ขวานเหล่านั้นก็ตกลงมายังพื้นดิน เหตุผลที่คนเชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่าคนมักจะพบขวานฟ้าตรงบริเวณที่เกิดฟ้าผ่า เมื่อเป็นของที่ตกลงมาจากฟ้าคนยิ่งเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ บ้างก็นำขวานฟ้าที่พบใส่พานตั้งบูชาบนหิ้งพระ บ้างก็นำไปพกติดตัว แม้แต่การนำเอาไปแช่ไว้ในโอ่งน้ำฝนแล้วนำน้ำนั้นมาอุปโภคบริโภค หรือที่น่าตกใจที่สุด คือมีการสร้างขวานขึ้นใหม่ทำเป็นสร้อยคอ เพราะเชื่อว่าขวานฟ้าไล่สิ่งชั่วร้าย ภูตผีปีศาจ หรือวิญญาณได้
       ขณะเดียวกัน การศึกษาทางโบราณคดีเราก็ได้เริ่มมีองค์ความรู้เกี่ยวกับขวานฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อประมาณ 80 ปีก่อนนี้เอง เหตุเพราะนายแวน ฮีกเกอเร็น นักโบราณคดีชาวเนเธอร์แลนด์ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พบเครื่องมือหินกะเทาะและขวานหินขัดในบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย ตำบลบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ขณะที่ถูกเกณฑ์ให้มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ ด้วยความเป็นนักสะสมเขาจึงได้เก็บขวานหินเหล่านั้นกลับไปศึกษาวิเคราะห์หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม นำไปสู่การดำเนินงานโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2499 ขวานหินขัด เป็นวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ จากการนำหินธรรมดามากระเทาะให้ด้านหนึ่งมีความแหลมคมพอที่จะเฉือนเนื้อขนาดได้เท่ากำปั้นสู่การนำมาการขัดให้คมและมีขนาดเล็กลงเอาไปตัดหรือสับได้ ในการดำเนินการทางโบราณคดีครั้งนี้นำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และนำพาความเชื่อแบบไทยและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมาบรรจบกัน
 
          เผยแพร่โดย วริยา โปษณเจริญ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / เทคนิคภาพโดย พลอยไพลิน ปุราทะกา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 738 ครั้ง)

Messenger