วันสายตาโลก ๒๕๖๔
สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว... ด้วยวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ ถือเป็นวันสายตาโลก เพจคลังกลางฯ จึงขอยกสุภาษิตของเฟร็ดเดอร์ริค แลงบริดจ์ ที่แปลโดยเจษฎาจารย์ฟร็องซัว ตูเวอแน ฮีแลร์ ครูผู้วางรากฐานการศึกษาแห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งในโอกาสวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของท่าน จึงขอใช้โอกาสทั้งสองนี้ เสนอชีวประวัติ ฟ. ฮีแลร์ และงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “ดวงตา” ผ่านเลนส์แต่ละมิติทางศาสนา ร่วมกับ “แว่นตาพร้อมปลอกหนัง” ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ ณ อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านาม ฟ. ฮีแลร์ “ฟ.” (ฟอ) ในที่นี้ ไม่ได้มีที่มาจากฟร็องซัวในชื่อ หรือฟาเทอร์ที่ใช้เรียกบาทหลวง แต่เป็นอักษรย่อจากคำว่า “frère” ในภาษาฝรั่งเศส หรือที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า brother ซึ่งต่อมาภาษาไทยนำคำว่า “ภราดา” (ที่แปลว่า พี่/น้องชายในภาษาสันสกฤต) หรือ “เจษฎาจารย์” มาใช้แทน โดยภราดรฮีแลร์ (นามที่สองสมเด็จใช้เรียกในจดหมายเวร) เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดังจะเห็นได้จากนามของท่านปรากฏอยู่ในจดหมายเวรของสองสมเด็จอย่างน้อยถึง ๒ ครั้ง ดังมีระบุอยู่เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๗๗ เรื่อง “การสวมหมวกในพิธีกรรมของสังฆราช” และวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๘๓ เรื่อง “จำนวนเม็ดลูกประคำสำหรับภาวนา” นอกจากนี้ หลวงพ่อฮีแลร์ (นามที่ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ใช้เรียกในหนังสือพระประวัติลูกเล่า) ยังถูกเชิญให้เข้าร่วมใน “วรรณคดีสโมสร” องค์กรสำคัญที่ส่งเสริมให้แต่งหนังสือถูกต้องตามหลักภาษาไทยอีกด้วย
ส่วนในมิติทางศาสนา “ดวงตา” มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับแต่ละวัฒนธรรมความเชื่ออย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้ว่าในศาสนาฮินดูมีเทพเจ้าผู้มี “ดวงตาที่สาม” อย่างพระศิวะ หากพระเนตรเปิดขึ้นจะบันดาลให้ไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญโลก จึงถือพระศิวะเป็นเทพผู้ทำลาย ส่วนในทางพุทธศาสนาปรากฏในพุทธประวัติว่า โกณฑัญญะ คือพระสาวกองค์แรกที่ “ดวงตาเห็นธรรม” จากคำสอนว่าด้วยเรื่อง “พระธรรมจักรกัปวัตรสูตร” นอกจากนี้ในทางพิธีกรรม ยังมีพิธีที่เรียกว่า “เบิกพระเนตร” (การเปิดตา) เป็นคำเรียกที่ใช้ในพิธีฝังพระเนตร เขียน หรือเช็ดพระเนตรพระพุทธรูปที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จากความเชื่อที่ว่าพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่จากปูนบ้าง โลหะบ้าง ยังไม่เป็นองค์พระโดยสมบูรณ์จนกว่าจะผ่านพิธีกรรมดังกล่าว รวมถึงในงานสถาปัตยกรรมที่เนปาล ปรากฏรูป “ดวงตาแห่งพุทธะ” รอบองค์เจดีย์สี่ทิศ จากแนวคิดที่ว่าพระธรรมแผ่ขยายไปทั่วทุกสารทิศ หรือในคริสต์ศาสนาที่มีคำว่า The all seeing eye ระบุอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล หมายถึง ดวงตาที่มองเห็นได้ทุกอย่าง ซึ่งนัยหนึ่งก็คือ “ดวงตาพระเจ้า” นั่นเอง นอกจากนี้ ในคติของอียิปต์โบราณยังมี “ดวงตาของฮอรัส” อันเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครอง ความรอบรู้ สุขภาพดี ความมั่งคั่ง และมีพลังอำนาจมหาศาลอีกด้วย
ทั้งนี้ ในวันสายตาโลก... หากจะกล่าวถึงวิธีถนอมสายตาที่มีมายาวนาน เห็นจะเป็นการสวม “แว่นตา” ซึ่งในพจนานุกรมระบุว่าหมายถึง สิ่งที่ทำด้วยแก้วหรือวัสดุใส เป็นเครื่องสวมตาเพื่อช่วยให้แลเห็นชัดขึ้นนั่นเอง โดยแว่นตาน่าจะเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๓ (ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔) ดังมีหลักฐานในงานจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นภาพสาวชาววังลองสวมแว่นตาจากพ่อค้าชาวต่างชาติ รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขณะฉลองพระเนตร (แว่นตา)
ดังนั้น แว่นตาจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นของจำเป็นสำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตา กระทั่งกลายเป็นสินค้าที่มีขายอยู่ตามห้าง ดังมีตัวอย่างคือ แว่นตาพร้อมปลอกจากห้างสรรพสินค้า B.Grimm&Co. Bangkok (ห้างไทยสัญชาติเยอรมัน) ลักษณะเป็นแว่นตาขนาดเล็ก ก้านทำจากทองเหลือง บรรจุอยู่ในปลอกหนังสีน้ำตาล อนึ่ง ก่อนจากกันขอส่งท้ายด้วยสุภาษิตของ Frederick Langbridge ความว่า Two men look out the same prison bars; one sees mud and the other star. ที่สุดท้ายแล้วเมื่อสองคนยลตามช่อง... จะมองเห็นอะไรก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติ มุมมองของแต่ละคน ว่าคุณจะมองเห็นเป็นโอกาสหรือพลาดพลั้งไปในที่สุด
เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์
ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน
เทคนิคภาพโดย ณัฐดนัย อรุณมาศ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์
กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
ดาวน์โหลดไฟล์: วันสายตาโลก ๒๕๖๔.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:
(จำนวนผู้เข้าชม 638 ครั้ง)