วันขึ้นปีใหม่ไทย
วันขึ้นปีใหม่ไทย ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายนของทุกปี หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วันสงกรานต์” โดยคำนี้มีที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํ - กรานต” แปลว่าการก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ การขึ้นศักราชใหม่ จึงนับเป็นวันปีใหม่ไทยสืบมา กระทั่งรัฐบาลได้กำหนดวันปีใหม่ตามปฏิทินสากลเป็นวันที่ ๑ มกราคม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งกิจกรรมที่นิยมในช่วงนี้ นอกจากทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สรงน้ำพระแล้ว อีกกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ คือ การประกวดนางสงกรานต์ อิงตามตำนานนางสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ คือ “นางรากษสเทวี” เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังวรวาหะ (หมู หรือ สุกร)
หากพูดถึงความเชื่อในเรื่องโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ “หมู” คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ใครหลายคนนำมาเป็นตัวแทนของสิ่งมงคลที่ช่วยเสริมสร้างโชคลาภ ดังจะเห็นได้จากหมูในวัฒนธรรมจีนที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความร่ำรวย และโชคลาภ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีข้าวของเครื่องใช้ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความตาย คือ ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์รูปหมู ที่แสดงถึงการเป็นสังคมเกษตรกรรม อีกทั้งยังสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์
และเพื่อให้เข้ากับคอนเทนต์หมู หมู วันนี้ (๒๙ เมษายน ๒๕๖๔) เพจคลังกลางฯ ขอนำเสนอหนังใหญ่รูปเกวียนลิงเทียมหมู จัดอยู่ในหมวดหนังเบ็ดเตล็ดและเป็นหนังรถ กล่าวได้ว่าเป็นหมวดที่ใช้เป็นฉากประกอบ มีลักษณะเป็นแผ่นหนังฉลุลาย ลงสี เป็นรูปเกวียนมีหลังคาเทียมด้วยหมูหนึ่งคู่ มีเสนาลิงหลายตัวนั่งอยู่ในเกวียน ลิงตัวหนึ่งเป็นสารถี ลิงตัวหนึ่งถือธงรบ และอีกสองตัวนั่งอยู่บนหลังคาเกวียน หนังใหญ่ดังกล่าวเป็นหนังชุดพระนครไหว ซึ่งเป็นหนังใหญ่ที่แสดงถึงฝีมือของช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้อย่างประณีตงดงาม ต่อมาได้ถูกไฟไหม้เมื่อครั้งที่ประดับอยู่ที่ฝาผนังโรงละครศิลปากร โดยในสมัยรัชกาลที่ ๙ ได้มีการนำหนังใหญ่ชุดพระนครไหวมาซ่อม – สร้างเพิ่มเติมจนสามารถนำกลับมาใช้แสดงใหม่ได้อย่างสมบูรณ์
เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ เผยแพร่และเรียบเรียงโดย ณัฐดนัย อรุณมาศ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 1055 ครั้ง)