มโหระทึก
“มโหระทึก” เป็นเครื่องประโคมตระกูลฆ้อง-ระฆัง ทำจากโลหะผสมระหว่างทองแดง ดีบุกและตะกั่ว บ้างเรียก “กลองทอง(แดง)” “ฆ้องบั้ง” หรือ “ฆ้องกบ” พบได้ตั้งแต่เหนือสุดทางมณฑลยูนนาน (ประเทศจีน) ถึงบริเวณหมู่เกาะประเทศอินโดนีเซีย เป็นเครื่องมือโลหะที่คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ใช้ตีในพิธีกรรมสำคัญ ถือเป็นวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบมากทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามบริเวณแหล่งโบราณคดีดองซอน จังหวัดธานหัว ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและรูปแบบจากจีนสมัยราชวงศ์จิวและราชวงศ์ฮั่นเมื่อกว่า ๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว
ส่วนการหล่อมโหระทึกแต่ละใบ จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก เช่น ไม้ไผ่ ดินเหนียว แกลบ ขี้วัว ขี้ผึ้ง สายชนวน แร่โลหะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการขึ้นรูป ทำแม่พิมพ์ขี้ผึ้ง การใช้ไฟหรือการควบคุมความร้อนที่เหมาะสม ลายที่ปรากฏบนมโหระทึกส่วนใหญ่เป็นลวดลายเรขาคณิต ภาพเล่าเรื่องวิถีชีวิตของคนยุคนั้น ซึ่งลายหนึ่งที่ทุกท่านน่าจะคุ้นตา คือ ลายแฉก สันนิษฐานได้ว่าคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อาจมีความเชื่อเรื่องการนับถือดวงอาทิตย์เป็นดั่งพระเจ้า ทั้งนี้ คติการบูชาดวงอาทิตย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์น่าจะมีความเชื่อสืบมาถึง “วัฒนธรรมทวารวดี” ผสมผสานกับความเชื่อจากอินเดีย จนปรากฏรูปดวงอาทิตย์บนเหรียญกษาปณ์ ซึ่งในนิทรรศการพิเศษได้จัดแสดงต่อเนื่องกับมโหระทึก เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยปัจจุบันมีการค้นพบมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั่วทุกภูมิภาคของไทยแล้ว จำนวนมากกว่า ๔๐ ใบ นอกจากนี้ “มโหระทึก” ยังคงถูกใช้ในพระราชพิธีสำคัญของราชสำนักสืบมาจนปัจจุบัน
ภาพมโหระทึก คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรีศรีรามเทพนคร” พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 982 ครั้ง)