ลานทองพระมหาเถรจุฬามณี
ลักษณะเป็นแผ่นทอง จารอักษร ๔ บรรทัด กล่าวถึงการบุญของเจ้านาย(หลานลุง?)สายวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุมแห่งสุโขทัย ขุดได้ที่ฐานพระประธานของพระอุโบสถวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ ๗๙ ปีก่อน (พ.ศ. ๒๔๘๔) โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงส่งคำอ่านที่แปลโดยมหาฉ่ำ พร้อมทั้งภาพถ่ายที่ฉายโดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยลงจดหมายเวร ฉบับลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๔ ความว่า “...ที่พบจารึกแผ่นทองของพระมหาเถรจุฬามณี ณ เมืองสุโขทัย...พิจารณาดูตัวอักษรที่จารึกนั้นก็เก่าถึงสมัยพระธรรมราชาพระยาลิไทย ตรงกับศักราชที่ลงไว้ในนั้น อันร่วมสมัยพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา...ที่ได้จารึกแผ่นทอง ทำให้ความรู้แน่นอนขึ้น จึงนับว่าดีมาก...” ลานทองแผ่นนี้จึงสามารถกำหนดอายุได้ตามศักราชที่ปรากฏในจารึก คือ ปีจุลศักราช ๗๓๘ (ตรงกับปีพุทธศักราช ๑๙๑๙)
ทั้งนี้ นอกจากความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์-โบราณคดี จารึกหลักนี้ยังมีความพิเศษในแง่อักษรศาสตร์-ภาษาศาสตร์ ด้วยมีการใช้รูปอักษรไทยสุโขทัยจารภาษาไทย และรูปอักษรธรรมล้านนาจารภาษาบาลี ซึ่งจากการศึกษาในปัจจุบัน พบว่าอักษรธรรมล้านนาที่ปรากฏในจารึกหลักนี้เป็นรูปอักษรที่เก่าที่สุด ดังนั้น ลานทองพระมหาเถรจุฬามณี จึงถือว่ามีความสำคัญในฐานะหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับล้านนา รวมถึงเป็นหมุดหมายในการกำหนดช่วงเวลาการใช้รูปอักษรธรรมล้านนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐
อนึ่ง ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับจารึกหลักนี้ อยู่ในบทความของก่องแก้ว วีระประจักษ์ (ว.ศิลปากรปีที่ ๒๗, ๓) ว่าเมื่อคราวที่ได้จารึกหลักนี้มาเส้นจารอักษรน่าจะบางมากจนหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ถ่ายภาพไม่ติด จึงได้มีการเขียนเส้นหมึกดำทับลงไปบนเส้นอักษร ต่อมาจึงมีการลบรอยเส้นหมึกนั้นออกไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทุกท่านสามารถรับชมของจริงได้ในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ” ที่จะเปิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
(เผยแพร่ข้อมูลโดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / เทคนิคภาพโดย นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / ภาพประกอบจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(จำนวนผู้เข้าชม 937 ครั้ง)