วัวในแต่ละความเชื่อทางศาสนา

          เริ่มด้วยที่มาของคำว่า “ฉลู” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ឆ្លូវ (ฉลูว) ในภาษาเขมรเก่า ส่วนพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่าคือชื่อปีที่ ๒ ของปีนักษัตร มีวัวเป็นเครื่องหมาย


พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดับรูปวัวตรงชุดฐานสิงห์ 

          สำหรับวัตถุชิ้นแรกเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือตาลปัตร ขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือชุดฐานสิงห์ ซึ่งชุดฐานนี้มีการประดับรูปวัวยื่นออกมา แสดงนัยยะว่าพระพุทธรูปองค์นี้ คือ “พระโคตโม” พระพุทธเจ้ากัปปัจจุบัน (ภัทรกัป) ตามเรื่องราวของพระเจ้าห้าพระองค์และตำนานแม่กาเผือกที่เล่าว่าทรงเป็นบุตรของพญากาเผือก (ที่มาของประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือกในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒) โดยมีวัวเป็นผู้เลี้ยงดู พระพุทธเจ้าองค์นี้จึงมีนามว่า “พระโคตมพุทธเจ้า” ตามนามของแม่เลี้ยง


ประติมากรรมรูปโคนนทิ

          วัตถุชิ้นต่อไป เป็นประติมากรรมรูปโคนนทิ องค์เทวพาหนะของพระศิวะ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู มีรูปลักษณ์เป็นโคเพศผู้ สีขาวปลอด (ขาวสะอาดไม่มีสีอื่นปน) บางตำราถือว่าทรงเป็นหัวหน้าของบรรดาสัตว์สี่ขา โดยรูปโคนนทิที่พบในประเทศไทย มักพบอยู่ตามศาสนสถานในวัฒนธรรมร่วมแบบเขมร เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากนี้ ยังปรากฏรูปโคนนทิในตราตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง ผลงานที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (ดูเพิ่มเติมใน เพจสมเด็จครู) และ“แผ่นตรานนทิมุข” สำหรับรถยนต์หลวง มีอักษรระบุว่า “กระทรวงวังอนุญาตรถนี้เข้าออกในพระบรมมหาราชวังได้”


หนังใหญ่รูปไพร่พลลิงขี่หลังวัว

          ส่วนวัตถุชิ้นสุดท้าย เป็นแผ่นหนังฉลุลาย ประเภทหนังเขน (“เขน” คือหนังใหญ่รูปไพร่พลในกองทัพ จัดอยู่ในกลุ่มหนังเบ็ดเตล็ด) รูปลิงสองตัวขี่หลังวัว ตัวหนึ่งถืออาวุธ อีกตัวดึงสายเชือกสนตะพายบังคับวัว ระบุประวัติว่าได้รับมอบจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่ง “หนังใหญ่” โดยทั่วไปจะสร้างขึ้นจากหนังโค เพราะหนังโคมีความบางและโปร่งแสง หากเล่นในเวลากลางคืน เมื่อถูกไฟส่องจะเหมือนไฟลุกจับตัวหนัง หากเล่นในเวลากลางวัน ตัวหนังที่ถูกระบายสี ก็จะช่วยขับสีต่าง ๆ ให้เห็นเด่นขึ้นอย่างชัดเจน อนึ่ง ยังมีเกร็ดเล็กน้อยที่ว่า “หนังเจ้า” คือหนังรูปพระอิศวรและพระนารายณ์ จะต้องทำจากหนังที่เสือกินตาย ฟ้าผ่าตาย หรือออกลูกตาย อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกว่า “โคตายพราย” อีกด้วย

          นอกจากนี้ ยังมีเรื่องวัว ๆ ที่พบเห็นได้ตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น “โคขาวลำพูน” โคพื้นเมืองภาคเหนือ ที่ใช้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ “พระธาตุลำปางหลวง” พระธาตุประจำปีนักษัตรฉลูของชาวล้านนา (ดูเพิ่มเติมใน เพจพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ลำพูน) “รูปโคเหนือหน้าบันหอคำ” (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน) และ “รูปโคเทินพระธาตุ” ตราประจำจังหวัดน่าน อีกทั้งคติหัวเมืองบริวาร ๑๒ นักษัตรของนครศรีธรรมราช ที่ถือว่า “เมืองปัตตานี” ถือตรานักษัตรปีฉลูเป็นตราประจำเมือง สุดท้ายนี้ ปีฉลู ๒๕๖๔ 

 

          เผยแพร่โดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ / เทคนิคภาพโดย นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

 

(จำนวนผู้เข้าชม 5104 ครั้ง)

Messenger