แม่พิมพ์


ขวานสำริดแบบมีบ้องและแม่พิมพ์หินทราย

          แม่พิมพ์ : วิทยาการงานเบ้าหลอมยุคก่อนประวัติศาสตร์สู่งานศาสนศิลป์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีการใช้แม่พิมพ์มาตั้งแต่มนุษย์รู้จักสินแร่และการถลุงโลหะเพื่อนำมาใช้งาน ยุคนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิวัฒนาการของมนุษยชาติ หากอนุโลมตามหลักฐานการใช้เครื่องมือแต่ละยุคสมัย ยุคสำริดในประเทศไทยจะมีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว 



แม่พิมพ์หิน

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายของแม่พิมพ์ว่า “สิ่งที่เป็นต้นแบบ” โดยแม่พิมพ์ที่นิยมใช้ในการหล่อสำริดมี ๔ ชนิด คือ แม่พิมพ์แบบเปิด แม่พิมพ์หลายชิ้น (สำหรับหล่อโลหะตัน) แม่พิมพ์ชนิดแกนลอย (สำหรับโลหะที่มีรูหรือบ้องกลวง) และแม่พิมพ์สำหรับการหล่อแบบแทนที่ขี้ผึ้ง ส่วนวัตถุชิ้นแรกคือ “แม่พิมพ์หินทรายรูปขวาน” เป็นแม่พิมพ์แบบประกบ ตั้งอยู่คู่กับ “ขวานสำริดแบบมีบ้อง” มีเศษเครื่องจักสานติดอยู่ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาเรื่องเครื่องใช้ของคนในอดีต โดยวัตถุทั้งสองชิ้นมีอายุอยู่ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์แบบวัฒนธรรมบ้านเชียง ประมาณ ๔,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว


แม่พิมพ์ดินเผา

          การใช้ “แม่พิมพ์” ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ “แม่พิมพ์” นอกจากจะนำมาประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้แล้ว ยังได้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์เรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เหรียญมีค่า ดังปรากฏหลักฐาน “แม่พิมพ์เหรียญสมัยทวารวดี” ระบุประวัติว่าพบที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ลักษณะเป็นแม่พิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส สลักลายกลมสองวง ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา ดังปรากฏว่ามีการสร้างพระพิมพ์ในไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี มีหลักฐานชิ้นสำคัญคือ “แม่พิมพ์ดินเผา” กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับในกรอบซุ้มอาคารทรงศิขระ ด้านข้างประดับสถูปเต็มพื้นที่ มีรูปแบบคล้ายพระพิมพ์ซุ้มพุทธคยาที่สืบมาจากประเทศอินเดีย พบได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย โดยวัตถุชิ้นนี้ มีประวัติระบุว่าขุดได้จากในพระเจดีย์วัดไชยชุมพลชนะสงคราม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าการสร้างแม่พิมพ์ในศาสนากลับไม่พบในพราหมณ์-ฮินดู สอดรับกับที่ศาสตราจารย์เซเดส์ อธิบายไว้ในหนังสือ “ตำนานพระพิมพ์” ว่า ...ประเพณีการสร้างพระพุทธรูป โดยวิธีใช้กดด้วยแม่พิมพ์และประทับด้วยตรานี้ ปรากฏแต่ในฝ่ายพระพุทธศาสนาเท่านั้น...

          อย่างไรก็ดี แม้ “แม่พิมพ์” จะสามารถแสดงหลักฐานที่มา สืบต่อศาสนา หรือส่งต่อความเป็นต้นแบบได้ก็ตาม ทว่า ความเป็น “ครู” ยังอาจก้าวข้ามคำว่า “แม่พิมพ์” สู่ “ผู้เป็นแนวทางแก่ศิษย์ เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแสงให้อนาคตของชาติ” ได้อีกด้วย ดังนั้น ในวาระวันครูแห่งชาติที่กำลังจะมาถึง เพจคลังกลางฯ ขอเป็นกำลังใจให้ “ครู” ผู้ทำหน้าที่พายเรือส่งลูกศิษย์ถึงฝั่งทุกท่านนะครับ

       

          เผยแพร่โดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ / เทคนิคภาพ นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ

(จำนวนผู้เข้าชม 4737 ครั้ง)