ว่าด้วยเรื่องทรงผมคนไทย
ภาพที่ ๑ ภาพเปรียบเทียบทรงผมม้าของลิซ่า ภาพจากแอปพลิเคชัน Tiktok กับหนังใหญ่รูปม้า คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
“หน้าม้า” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ นั้น ไม่ได้ให้ความหมายถึงเรื่องทรงผม แต่กลับให้ความหมายของ “ผมม้า” ว่า น. ทรงผมผู้หญิงที่หวีส่วนหนึ่งลงมาปรกหน้าผากราวระดับคิ้วสอดรับกับลักษณะขนม้าที่ปรกลงมาบริเวณหัว ซึ่งสามารถเห็นได้ในงานศิลปกรรมต่าง ๆ เช่น หนังใหญ่รูปม้า เป็นต้น
ภาพที่ ๒ ไม้แกะสลักรูปเต่า คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กับหางเต่าในพจนานุกรม
นอกจากนี้ ในพจนานุกรมฉบับเดียวกัน ยังระบุถึงลักษณะทรงผมอย่างที่เรียกว่า “หางเต่า” มีคำอธิบายกล่าวว่า น. ปอยผมในร่องเล็กที่ท้ายทอย มีรูปแหลม, หีเต่า ก็เรียก. ลักษณะเดียวกับหางปลายแหลมของเต่า บ้างก็ว่าเกิดขึ้นตามกรรมพันธุ์ มักนิยมไว้ผมทรงนี้ในช่วงวัยเด็ก รวมถึงเป็นทรงยอดนิยมของวัยรุ่นช่วงเวลาหนึ่งด้วย
ภาพที่ ๓ ไม้แกะสลักรูปหัวล้านชนกัน คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กับ “ขุนช้าง” จากละครโทรทัศน์ เรื่อง “วันทอง” ภาพจาก www.one31.net
ทว่า หากย้อนไปดูทรงผมโบราณ “หัวล้าน ๗ ชนิด” ของชายไทย อันเป็นที่มาของการละเล่นพื้นบ้าน “หัวล้านชนกัน” แม้ไม่ปรากฏหลักฐานที่มาแน่ชัด และแตกต่างกันไปหลายสำนวน แต่ส่วนใหญ่มักใช้คำเรียกที่คล้องจองกัน เช่น ทุ่งหมาหลง ดงช้างข้าม ง่ามเทโพ ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก ฉีกหาง(ขวาน)ฟาด และราชคลึงเครา โดยจะเห็นได้ว่าจะมีชื่อหรือชนิดของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น หมา ช้าง ปลา (เทโพ/ชะโด) หรือแร้ง รวมถึงพฤติกรรมของสัตว์บางชนิดมาใช้อธิบายลักษณะของทรงผม เช่น “ทรงง่ามเทโพ” ลักษณะคือผมช่วงหน้าล้าน ตรงกลางเป็นรูปคล้ายเงี่ยงสองแฉกของปลาเทโพ “ทรงชะโดตีแปลง” ลักษณะจะหัวล้านตรงกลาง แต่มีผมขึ้นรอบทิศทางซึ่งน่าจะมีที่มาจากพฤติกรรมของปลาชะโดตัวผู้ที่ตีแปลงสร้างอาณาเขตให้ปลาตัวเมียในฤดูวางไข่ “ทรงแร้งกระพือปีก” มีลักษณะล้านเถิกลึกเข้าไป คงเหลือผมไว้คล้ายปีกแร้งสองข้าง หรือ “ทรงฉีกหางฟาด” ที่มีลักษณะเป็นหัวล้านเหมือนถูกหางปลาฟาดลงไปเป็นแนว เว้นผมตรงกลางไว้เป็นหย่อม เป็นต้น
อนึ่ง เมื่อกล่าวถึงหัวล้านแต่ละชนิดของไทยแล้ว หนึ่งตัวละครเอกในวรรณคดีไทยที่จะลืมเสียมิได้ คือ “ขุนช้าง” โดยที่มาของนาม บ้างว่าได้ชื่อนี้จากที่เมื่อตอนคลอด มีผู้นำช้างเผือกมาถวายสมเด็จพระพันวษา บ้างก็ว่าได้ชื่อนี้เพราะมารดาฝันว่านกตะกรุมคาบช้างตายมาให้ บิดาจึงทำนายฝันว่าบุตรชายจะมีวาสนาดี เสียแต่ว่ารูปไม่งาม ศีรษะล้านมาแต่กำเนิด ดังมีการพรรณนารูปลักษณ์ของขุนช้างในเสภา ความว่า “...จะกล่าวถึงขุนช้างเมื่อรุ่นหนุ่ม หัวเหมือนนกตะกรุมล้านหนักหนา เคราคางขนอกรกกายา หน้าตาดังลิงค่างที่กลางไพร...” อย่างไรก็ดี แม้ไม่มีการระบุแน่ชัดว่าขุนช้างหัวล้านแบบใด แต่ภาพลักษณ์จากวรรณคดีแสดงให้เห็นว่าขุนช้างเป็นคนใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย แม้จะใจน้อยบ้างตามสำนวน “คนหัวล้านขี้ใจน้อย” แต่ก็รักใครรักจริงนั่นเอง
เผยแพร่โดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ / เทคนิคภาพ นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ
(จำนวนผู้เข้าชม 18377 ครั้ง)