...

เรือหางแมงป่อง
 เรือหางแมงป่อง : พระราชพาหนะคราวเสด็จประพาสต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๗ สิงหาคม ๒๔๔๙ เพื่อทรงรับทราบความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ทอดพระเนตรโบราณสถานทั้งในเมืองนครชุมและเมืองกำแพงเพชร ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมือง
พระราชพาหนะในการเสด็จประพาสต้น คือ เรือหางแมงป่อง หรือเรือแม่ปะ เป็นเรือพื้นถิ่นของทางภาคเหนือ นิยมใช้ในหมู่ชาวเชียงใหม่ ลักษณะเด่นของเรือชนิดนี้ คือ เป็นเรือขนาดใหญ่ที่ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ความยาวประมาณ ๑๖ – ๑๘ เมตร เมื่อขุดแล้ว เบิกปากเรือให้กว้าง (การเบิกเรือ คือ การดัด ขยายกราบเรือให้กว้างออก) ต่อไม้ท้ายเรือให้แบน แต่กว้างกว่าหัวเรือ และงอนสูงขึ้นคล้ายหางแมงป่อง ส่วนหัวเรือต่อให้ยาวยื่นออกไปสำหรับให้ลูกเรือขึ้นไปยืนถ่อเรือได้ มีประทุนค่อนไปทางท้ายสำหรับบรรทุกสินค้า ท้ายเรือเป็นประทุนยกระดับสูงขึ้น บางครั้งใช้ถ่อหรือใช้กรรเชียงที่ดาดฟ้าหัวเรือ หลังคาโค้งสานด้วยไม้ไผ่ ด้านบนมีหลังคาเสริมอีกชั้น เพื่อใช้เลื่อนมากันฝนได้ นายท้ายเรือถือใบพายขนาดใหญ่สำหรับบังคับทิศทางของเรืออยู่ในห้องถือท้ายที่ยกพื้นให้สูงขึ้นกว่าห้องโดยสาร ซึ่งเรือบางลำอาจใช้ส่วนท้ายเรือสำหรับผู้โดยสาร โดยเรือหางแมงป่องเป็นเรือที่มีความแข็งแรง ทนทาน ลอยน้ำได้ดี ไม่บิดงอเมือปะทะเกาะแก่ง เนื่องจากแม่น้ำปิงนั้นมีกระแสน้ำเชี่ยวและเกาะแก่งมาก
ในสมัยแรก เรือหางแมงป่องนิยมใช้ในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ครั้นต่อมาได้มีการใช้เรือหางแมงป่องเป็นพาหนะขนส่งสินค้าจากภาคเหนือล่องลงมายังภาคกลาง ซึ่งสินค้าที่นิยม ได้แก่ น้ำมันยาง ชัน น้ำผึ้ง เป็นต้น เมื่อกลับขึ้นภาคเหนือก็จะซื้อสินค้าจากภาคกลางนำขึ้นไปขาย ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกมีความก้าวหน้ามากขึ้น เรือหางแมงป่องจึงคลายความสำคัญและหายไปจากลำน้ำในที่สุด
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๗.
- โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๓๙ เรื่อง เรือไทย. http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=39&
chap=3&page=t39-3-infodetail03.html สืบค้นเมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓.
- พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. เสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๕. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิ่ง, ๒๕๔๗.












(จำนวนผู้เข้าชม 3272 ครั้ง)


Messenger