มกร
มกร อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน เป็นคำภาษาสันสกฤต ในพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้ความหมายว่า เป็นสัตว์ตามจินตนาการของช่างอินเดียโบราณ มีลักษณะต่าง ๆ กันไป เช่น ในสมัยแรกส่วนหัวคล้ายจระเข้ มีจะงอยปากงอไปทางด้านหลังคล้ายงวงช้างขนาดสั้น มีฟันแหลมคม มีขาคล้ายสิงโตหรือสุนัข ท่อนหางทำเป็นอย่างหางปลา ส่วนมกรในศิลปะขอมมีลักษณะคล้ายมกรในศิลปะอินเดียแบบหลังคุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓) คือมี ๒ ขา และมีหางม้วนเป็นลายก้านขด ในศิลปะขอมแบบกุเลน (ราว พ.ศ. ๑๓๗๐ – ๑๔๒๐) รูปมกรมีรูปใหม่คือมี ๔ ขา ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ รูปมกรได้เข้ามาปะปนกับรูปนาค และหัวมกรเริ่มกลายเป็นหน้าสิงห์ไป
มกรถือเป็นสัตว์ในจินตนาการ เชื่อกันว่าเป็นเทพแห่งท้องทะเล มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดมาผสมกัน ทั้งระหว่างสัตว์บกและสัตว์น้ำ อาทิ มีส่วนปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนกับช้าง มีลำตัวและหางเหมือนปลา และมีลักษณะของสัตว์อื่น ๆ เพิ่มเติมหลายชนิดมากยิ่งขึ้นตามจินตนาการของช่าง เช่น สิงโต แพะ กวาง นาค มังกร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์ที่มีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น
มกรสังคโลกพบหลักฐานการขุดค้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่เมืองโบราณสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ผลิตขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒ จากกลุ่มเตาเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย โดยเป็นเครื่องประกอบในงานสถาปัตยกรรมประเภทวิหาร ใช้ประดับบริเวณราวบันไดหรือชายคาอาคาร
ในเมืองกำแพงเพชรได้พบมกรจากการดำเนินงานทางด้านโบราณคดีในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เช่น วัดอาวาสใหญ่ วัดฆ้องชัย โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นมกรเขียนลายสีดำบนน้ำดินสีขาวแล้วเคลือบใสทับอีกครั้งหนึ่ง กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๗.
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 8938 ครั้ง)