โบราณสถานป้อมไพรีพินาศ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
โบราณสถานป้อมไพรีพินาศ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
โบราณสถานป้อมไพรีพินาศตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ บ้านแหลมสิงห์ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี หรือพิกัดภูมิศาสตร์ที่รุ้ง ๑๓ องศา ๒๗ ลิปดา ๕๗ พิลิปดาเหนือ แวง ๑๐๑ องศา ๙ ลิปดา ๕๒ พิลิปดาตะวันออก โดยสันนิษฐานว่า เป็นป้อมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวน เนื่องจากเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุหรือเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์และกบฏองค์จันแห่งเขมร ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองญวนที่ให้การช่วยเหลือเจ้าอนุและองค์จัน จึงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพควบคุมไพร่พลไปรบญวนในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ กระทั่งในปีพ.ศ. ๒๓๗๗ จึงทรงเกรงว่าญวนจะยกไพร่พลมารบไทยคืนบ้าง จึงมีพระราชดำริให้เตรียมต่อเรือและสร้างป้อมขึ้นเพื่อป้องกัน โดยให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองเกณฑ์คนทำการต่อเรือ และให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองไปสร้างเมืองจันทบุรีขึ้นใหม่ที่ค่ายเนินวงพร้อมกับสร้างวัดโยธานิมิตเพื่อเป็นวัดประจำเมืองแล้วให้จมื่นราชามาตย์ ชื่อขำ หรือต่อมาเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ไปสร้างป้อมที่ปากน้ำจันทบุรี ดังความว่า
“... ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองไปสร้างเมืองจันทบุรี เจ้าพระยาพระคลังให้รื้อกำแพงเมืองเก่าเสีย เพราะด้วยอยู่ลึกเข้าไปนัก ไม่เป็นที่รับรองข้าศึก จึ่งสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เนินวง ด้วยบ้านราษฎรอยู่ลึกเข้าไปข้างหลัง เมืองเป็นที่ป้องกันครอบครัวพลเมืองได้ แล้วจึงสร้างวัดขึ้นสำหรับเมืองวัด ๑ ชื่อวัดโยธานิมิต แล้วให้จมื่นราชามาตย์ ชื่อขำ ไปทำป้อมที่แหลมด่านปากน้ำป้อม ๑ ชื่อ ป้อมภัยพินาศ ที่เขาแหลมสิงห์ป้อมเก่าทำเสียใหม่ ป้อม ๑ ชื่อ ป้อมพิฆาฏปัจจามิตร แล้วโปรดให้จมื่นไวยวรนารถ ชื่อช่วง ต่อกำปั่นขึ้นลำ ๑ ปากกว้าง ๑๐ ศอก เป็นตัวอย่าง...”
อีกทั้งยังมีพระราชดำริให้สร้างป้อมเมืองฉะเชิงเทราและป้อมคงกระพันที่ปากคลองบางปลากดเมืองสมุทรปราการเพื่อเตรียมการป้องกันในครั้งนี้ด้วย
ป้อมที่ปากน้ำจันทบุรีทั้งสองแห่งที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารนี้ ภายหลังได้รับการพระราชทานชื่อใหม่โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งยังทรงผนวชและได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรีพร้อมกับได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรป้อมทั้งสองแห่งนี้ ซึ่งได้พระราชทานชื่อป้อมที่เขาแหลมสิงห์ (ป้อมพิฆาฏปัจจามิตรในสมัยรัชกาลที่ ๓) ว่า “ป้อมไพรีพินาศ” และป้อมที่หัวแหลม (ป้อมภัยพินาศ) ว่า “ป้อมพิฆาฏข้าศึก” โดยในปัจจุบันป้อมไพรีพินาศยังคงหลงเหลือร่องรอยหลักฐานให้เห็น แต่ป้อมพิฆาฏข้าศึกนั้น แทบไม่หลงเหลือร่องรอยหลักฐาน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของป้อมพิฆาฏข้าศึกเป็นที่ตั้งของตึกแดงที่สร้างขึ้นภายหลังในสมัยที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีในปี พ.ศ. ๒๔๓๖
ลักษณะของป้อมไพรีพินาศเป็นป้อมที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแหลมสิงห์ที่ยื่นออกไปทางทะเลด้านตะวันออก มีลักษณะเป็นแนวกำแพงป้อมก่ออิฐถือปูนที่ก่อขึ้นมาบนพื้นเขาธรรมชาติ โค้งไปตามแนวเชิงเขา มีขนาดความกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๕ เมตร และแนวกำแพงป้อมหนาประมาณ ๖๐ เซนติเมตร บริเวณป้อมพบปืนใหญ่ที่ผลิตโดยบริษัทอาร์มสตรอง ประเทศอังกฤษ ซึ่งผลิตขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๘ (พ.ศ. ๒๔๑๑) มีลักษณะเป็นปืนใหญ่ที่หล่อด้วยเหล็ก บรรจุกระสุนทางปากลำกล้อง มีขนาดความยาวประมาณ ๒.๓ เมตร นอกจากนี้บริเวณทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของป้อมมีคลังกระสุนดินดำก่ออิฐถือปูนมีขนาดความกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาว ๒.๘๐ เมตร โดยผลการขุดตรวจทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ พบว่าป้อมไพรีพินาศเป็นป้อมที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งไม่พบหลักฐานการสร้างเพิ่มเติมในสมัยหลัง และคลังกระสุนดินดำสร้างขึ้นพร้อมกันกับตัวป้อม
บริเวณใกล้กับป้อมไพรีพินาศมีเจดีย์ทรงระฆังจำนวน ๑ องค์ ซึ่งชาวจันทบุรีสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่กองทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี โดยได้สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งปรากฏเรื่องราวอยู่ในหลักฐานเอกสารพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรื่องเสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ดังความว่า
“… แล้วเดินขึ้นไปเขาสูงประมาณสัก ๓๐ วา มีใบเสมาป้อมก่อไปตามไหล่เขาอีกชั้นหนึ่ง ข้างบนนั้นเป็นพระเจดีย์ ว่าพระพิพิธเมืองตราดมาสร้างไว้ เป็นพระเจดีย์ตามธรรมเนียม...”
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนป้อมไพรีพินาศ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๘๑ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานป้อมไพรีพินาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ง ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑๗ ไร่ ๕๘ ตารางวา
เอกสารอ้างอิง
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. (๒๕๑๔). เสด็จประพาสจันทบุรี. ใน กรมศิลปากร (บ.ก.), ชุมนุมเรื่องจันทบุรี (น.๘๗ - ๑๘๐). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. (๒๕๓๘). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
ห้างหุ้นส่วนจำกัด หินสามก้อน. (๒๕๕๕). รายงานการขุดตรวจทางโบราณคดีเจดีย์อิสรภาพป้อมไพรีพินาศ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี โครงการบูรณะเจดีย์อิสรภาพป้อมไพรีพินาศ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕. เอกสารอัดสำเนา.
ผู้เรียบเรียง
นางสาวเลิศลักษณ์ สุริมานนท์ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 2290 ครั้ง)