...

วัดลุ่มหรือวัดลุ่มมหาชัยชุมพล
วัดลุ่มหรือวัดลุ่มมหาชัยชุมพล ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง
วัดลุ่มหรือวัดลุ่มมหาชัยชุมพลตั้งอยู่ที่ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองตามประวัติวัดระบุว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๒๓๔ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารหรือหลักฐานศิลปกรรมที่ยืนยันได้แน่ชัด โดยเรื่องราวเกี่ยวกับวัดลุ่มปรากฏในหลักฐานเอกสารพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)ได้ยกทัพตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยามาทางหัวเมืองตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังไพร่พลกลับไปกอบกู้ กรุงศรีอยุธยาในราวปี พ.ศ. ๒๓๐๙ โดยเมื่อมาถึงเมืองระยองแล้วกองทัพของพระยาวชิรปราการได้ตั้งค่าย พักไพร่พลที่บริเวณวัดลุ่ม ดังความว่า “...รุ่งขึ้นประทับแรมน้ำเก่า ผู้รั้งเมืองระยอง
กรมการทั้งปวงชวนกันมาต้อนรับเสด็จ ถวายธัญญาหารเกวียนหนึ่ง เสด็จดำเนินมาถึงประตูจึงพระราชทานปืนคาบศิลา บอกหนึ่งแก่ผู้รั้งเมืองระยองแล้วเสด็จมาประทับอยู่ณ วัดลุ่ม ๒ เวน รับสั่งให้จัดลำเลียงอาหารขุดค่ายคู แลนายบุญรอดแขนอ่อน นายบุญมาน้องเมียพระยาจันทบูรเข้าถวายตัวทำราชการอยู่ด้วย…”
ในระหว่างที่พระยาวชิรปราการตั้งค่ายพักไพร่พลอยู่ที่วัดลุ่มนี้ กรมการเมืองระยองคิดระแวงว่าพระยาวชิรปราการเป็นกบฏหนีทัพออกมาจากกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในเวลานั้นกรุงศรีอยุธยายังไม่แตก จึงคิดต่อต้านและยกไพล่พลเข้าตีกองทัพของพระยาวชิรปราการ โดยยกไพล่พลข้ามสะพาน “วัดเนิน”เข้ามาใกล้ค่ายของพระยาวชิรปราการที่วัดลุ่ม แต่ก็พ่ายแพ้กลับไป โดยวัดเนินที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานเอกสารดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัดลุ่ม ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือหลักฐานเพียงแค่ซากเจดีย์ ๑ องค์เท่านั้น
จากข้อความที่กล่าวถึงวัดลุ่มในหลักฐานเอกสารดังกล่าว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดลุ่มหรือวัดลุ่มมหาชัยชุมพลนี้น่าจะสร้างขึ้นเป็นวัดมาแล้วอย่างน้อยก่อนปี พ.ศ. ๒๓๐๙ และคงเป็นวัดเรื่อยมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
โบราณสถานสำคัญภายในวัดลุ่มมหาชัยชุมพลนี้ ได้แก่ พระอุโบสถ (หลังเก่า) มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความกว้างประมาณ ๗ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ด้านหน้าหรือทางด้านตะวันออกมีการต่อชายคาออกมาและก่ออิฐถือปูนเป็นผนังรับเสาชายคาโดยเว้นช่องทางเข้า - ออกด้านข้างทั้ง ๒ ข้างซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของอุโบสถในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มีความเป็นพื้นถิ่น โดยมักพบอุโบสถลักษณะนี้ในวัดแถบจังหวัดระยองที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ วัดบ้านแลง วัดบ้านเก่า วัดนาตาขวัญ เป็นต้น
ฐานพระอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่อยู่บนฐานเขียงซ้อนกันสองชั้นเตี้ย ๆ พระอุโบสถมีประตูเข้า - ออกทางเดียวอยู่ทางด้านตะวันออก มีหน้าต่างด้านละ ๕ บานซุ้มประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยปูนปั้นลายใบเทศและดอกไม้บริเวณพื้นที่ว่างกลางซุ้มหน้าต่างตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปครุฑยุดนาค
หลังคาของพระอุโบสถเป็นหลังคาทรงจั่วซ้อนกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๒ ตับ โครงสร้างหลังคาไม้มุงด้วยกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา หน้าจั่วประดับเครื่องลำยองไม้ ประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นทาสีอิทธิพลศิลปะจีน โดยหน้าบันด้านตะวันออกประดับด้วยปูนปั้นรูปมังกร ลายพรรณพฤกษา และรูปสัตว์ขนาดเล็ก ส่วนหน้าบันด้านตะวันตกประดับด้วยปูนปั้นรูปหงส์ ลายพรรณพฤกษา และรูปสัตว์ขนาดเล็ก
ภายในพระอุโบสถมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปประธานและพระสาวก ซึ่งพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ รอบพระอุโบสถไม่ปรากฏใบเสมา สันนิษฐานว่า อาจถูกเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานรอบพระอุโบสถ
หลังใหม่
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดลุ่มมหาชัยชุมพล ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๓๘ง ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๑ งาน ๗๓ ตารางวา
เอกสารอ้างอิง
กรมการศาสนา. (๒๕๔๔). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒๐. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. (๒๕๔๒). กรุงเทพ ฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
กรมศิลปากร.
สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี. (๒๕๕๑). โบราณสำคัญเมืองระยอง. เอกสารอัดสำเนา.
สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี. (ม.ป.ป). วัดลุ่มมหาชัยชุมพล. เอกสารอัดสำเนา.
ผู้เรียบเรียง
นางสาวเลิศลักษณ์ สุริมานนท์ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 13130 ครั้ง)