...

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่

          หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๖ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ต้องการจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติประจำภาคเหนือขึ้น เพื่อถวายเป็นราชสักการะ แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองปีรัชมังคลาภิเษก ๒๕๓๑
          หอสมุดแห่งชาติประจำภาคเหนือแห่งนี้ จัดเป็นโครงการสร้างหอสมุดแห่งชาติแห่งที่ ๒ หลังจากที่คณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างหอสมุดได้ดำเนินการก่อสร้างหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๙ นครราชสีมา เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา ๕ รอบไปแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๐
          ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ ๓ จังหวัดเชียงใหม่ และกรมศิลปากร รวมทั้งหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการจัดทำโครงการ ออกแบบ และควบคุมดำเนินการก่อสร้าง ตลอดจนประสานงานในการติดตั้งและจัดหาอุปกรณ์ประกอบอาคารและจัดบริเวณสภาพแวดล้อมต่างๆ จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยใช้งบประมาณค่าก่อสร้างอาคาร ๒๙,๘๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งงบประมาณค่าก่อสร้างได้จากการบริจาคของฝ่ายต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนทั้งข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่า นอกจากเพื่อถวายเป็นราชสักการะในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ๒๕๓๑ ยังเป็นการสนองพระราชกระแสรับสั่งที่ว่า “หากจะสร้างสิ่งใดถวายพระองค์ท่าน ขอให้เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนโดยส่วนร่วม ซึ่งไม่มีสถานที่ใดที่จะเหมาะสมเท่ากับการจัดสร้างห้องสมุดให้เป็นศูนย์กลางการรวบรวมเอกสาร ความรู้ศิลปวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ถือเป็นรากฐานของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอันนำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองต่อไป”

   


           หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๑ โดย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กรุณาให้เกียรติเป็นประธานในพิธีดังกล่าว และเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ซึ่งสถานที่ก่อสร้างได้รับการสนับสนุนที่ดินจากสำนักทางหลวงที่ ๑ เชียงใหม่ จำนวน ๔ ไร่ ๒ งาน ฝั่งด้านตรงข้ามบริเวณประตูสวนดอก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ใช้ชื่อว่าหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๑ เป็นต้นมา

   

   

  


           เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๑ การก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์และสมดังเจตนารมณ์ และในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงรับอัญเชิญตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่

   

      


          ในปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สังกัดสำนักงานศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ถือว่าเป็นหอสมุดแห่งชาติสาขาแห่งเดียวประจำภาคเหนือ ด้วยความมุ่งหวังให้เป็นแหล่งรวบรวม รักษามรดกทางสติปัญญา วิทยาการ ศิลปกรรมและวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้บริการสารนิเทศ ศึกษาและค้นคว้าหาความรู้ พัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าและเป็นการกระจายวิทยาการไปสู่ท้องถิ่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อการพัฒนาตนเองและยังช่วยในการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นทั้ง ๑๔ จังหวัดของภาคเหนืออย่างยั่งยืนสืบไป


  ภาระหน้าที่

          หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวม สงวนรักษา จัดระบบและให้บริการมรดกทางสติปัญญา วิทยาการและวัฒนธรรมของชาติที่ปรากฎในรูปของหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และข่าวสารเรื่องทันสมัยต่างๆ รวมถึงหนังสือ ตัวเขียน เอกสารโบราณ คัมภีร์ใบลาน สมุดไทย โดยมีภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานดังนี้
           1) บริหารจัดการและดำเนินงานทรัพยากรสารสนเทศให้เป็นคลังสิ่งพิมพ์ในภูมิภาค โดยการจัดหา รวบรวม จัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทและทุกสาขาวิชาให้ครบถ้วนสมบูรณ์
           2) ศึกษาค้นคว้าและดำเนินงานวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อการเข้าถึงสารสนเทศได้โดยง่ายและใช้เป็นคู่มือในการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรมการปฏิบัติงานห้องสมุด แก่บุคคลและหน่วยงานภายนอก
          3) ให้บริการสารสนเทศและส่งเสริมการอ่าน การศึกษาค้นคว้า วิจัย แก่ประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาตามอัธยาศัย
          4) ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ และดำเนินงานสำรวจ รวบรวมเอกสารโบราณ และหนังสือหายาก เพื่อการสงวนรักษามรดกทรัพย์สินภูมิปัญญาของภูมิภาค
          5) ประสานงานกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ ในการเผยแพร่และกำหนดเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) เลขมาตรฐานสากลประจำวารสาร (ISSN) และข้อมูลทางบรรณานุกรมของหนังสือ (CIP)

(จำนวนผู้เข้าชม 1676 ครั้ง)