ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และบูรณะพระอุโบสถในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ซึ่งวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะแม และเมื่อวันศุกร์ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. (วันศุกร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่เหนือ ปีจอ) หรือเดือน ๑๒ ภาคกลาง ถือว่าเป็นวันสำคัญที่ทำพิธีบุกเบิกทางเป็นอุดมฤกษ์ ซึ่งชาวล้านนาที่ไม่มีวันลืมเลือน และเป็นความทรงจำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธา เพราะเป็นวันที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทย และปูชนียบุคคลที่ชาวเชียงใหม่ รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป เคารพศรัทธา ได้ทำการริเริ่มลงปักจอบแรกลงบนดินเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการขึ้นไปสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพ ความยาวรวม ๑๑ กิโลเมตร ๕๓๐ เมตร จนแล้วเสร็จและสามารถเปิดใช้ถนนได้เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘ เป็นระยะเวลาที่ใช้ในการสร้างเป็นเวลา ๕ เดือนกับ ๒๒ วัน ซึ่งการสร้างถนนเส้นทางใช้แรงงานคนกับอุปกรณ์ที่มี อาทิเช่น จอบ เสียม พลั่ว ชะแลง อีโต้ มีด หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาเอง เพื่อใช้การก่อสร้างทางต้องแผ้วถาง ทั้งนี้ต้องขุดหินเจาะหินระเบิดเป็นช่วงๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เป็นเขาสูงชันสลับซับซ้อนตลอดระยะทางด้วยแรงศรัทธา
บริเวณวัดศรีโสดามีความสำคัญ ซึ่งเป็นจุดลงจอบแรกในการสร้างถนนขึ้นไปสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร เป็นผู้ลงจอบแรก พร้อมคณะขุนนาง ข้าราชการและคหบดี เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ และวัดนี้ยังเป็นจุดรับบริจาคข้าวสาร รวมถึงอาหารสด เช่น เนื้อ ปลา และผักผลไม้ เป็นต้น ถือว่าเป็นจุดนี้เป็นเริ่มต้นเส้นทางบุญด้วยพลังศรัทธาของประชาชนสำหรับใช้ในการสัญจรได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังสร้างวัดตามรายทาง ๓ วัด โดยตั้งชื่อให้มีความหมายเกี่ยวโยงกับหลักธรรมที่ผู้ปฎิบัติธรรมพึงบรรลุได้ คือ มรรค ผล นิพพาน เทียบกับพระอริยบุคคลหรือบุคคลผู้ประเสริฐ ซึ่งมีอยู่ ๔ ระดับ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ตามลำดับ วัดแรกที่ครุบาศรีวิชัยสร้างคือ วัดโสดาบันพระอารามหลวง หรือวัดศรีโสดาในปัจจุบัน อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ อยู่ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดรับบริจาคในการสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่งในปัจจุบันเป็นสำนักศึกษาอบรมพระภิกษุสามเณร และเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนดอยให้แก่กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ต่อไปอีก ๔ กิโลเมตร สร้างวัดสกทาคามีวนาราม หรือ วัดผาลาด ตั้งอยู่ม่อนเถรจันทร์ หรือห้วยขุนผีบ้า จากผาลาดถัดไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร เรียกว่า วัดอนาคามี ปัจจุบันมีการบูรณะขึ้นใหม่ เป็นพุทธอุทยานอนาคามี และลำดับสุดท้ายบนยอดดอยสร้างอีกวัดหนึ่งวัด เรียกว่า วัดอรหันต์ หรือวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ในปัจจุบัน
ชาวเชียงใหม่จะพากันเดินข้ามคืนขึ้นดอย ตรงกับวันแปดเป็ง หรือวันวิสาขบูชาของทุกปี โดยใช้เส้นทางดังกล่าว เพื่อไปทำบุญตักบาตร ทำวัตรสวดมนต์ สมาทานศีล หรือฟังธรรมเทศนา ในวันสำคัญดังกล่าว และเส้นทางเส้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๐๔ หลังจากสร้างเสร็จถนนเส้นนี้มีชื่อว่า ถนนดอยสุเทพ ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนศรีวิชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยอย่างแท้จริง
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
แหล่งอ้างอิง :
เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. ๘๙ ปี จอบแรก ครูบากองทัพธรรมผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘,
จาก: https://thecitizen.plus/node/91485, ๒๕๖๖.
รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. ครูบาศรีวิชัย : พระอริยสงฆ์แห่งความสำเร็จ. กรุงเทพฯ: พริ้นติ้งบ้านมงคล, ๒๕๕๘.
สิงฆะ วรรณสัย. สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา. ลำพูน: สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน, ๒๕๕๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 78 ครั้ง)