...

องค์ความรู้ : บุคคลสำคัญของไทย เรื่อง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน

วันดำรงราชานุภาพ  ตรงกับวันที่ ๑ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถ พระกรณียกิจนานัปการ ตลอดจนพระนิพนธ์หลากหลายสาขาวิชา เพื่อเป็นการถวายความรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์
เป็นมรดกทางปัญญาของคนไทย ทั้งในส่วนของการศึกษา การปกครอง สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เป็นต้น มาจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นคนไทยคนแรกของประเทศ ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ส่งผลให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศ นอกจากนี้พระองค์ทรงได้รับสมญานามว่าเป็น บิดาแห่งการปกครอง บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี และบิดาแห่งมัคคุเทศก์ไทย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระปรีชาสามารถในการเขียนหนังสือได้หลายประเภท เช่น ชีวประวัติ ประวัติศาสตร์ ประวัติวรรณคดี ศาสนา วัฒนธรรม ท่องเที่ยว โบราณคดี นิทาน โคลง กลอน และประวัติความรู้ต่างๆ เป็นต้น และพระองค์ทรงได้รับย่องจากวงการประพันธ์ไทยว่า ทรงเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล  ได้ทรงบันทึกรายละเอียดไว้เป็นประเภท ดังนี้ พงศาวดาร ๑๓๔ เรื่อง ศาสนา ๗๖ เรื่อง ตำนาน ๑๐๓ เรื่อง ประวัติต่างๆ ๑๖๐ เรื่อง โคลง กลอน ๙๒ เรื่อง อธิบายแทรก ๑๙ เรื่อง และในนิตยสารสยามสมาคม ๑๐ เรื่อง (จิรัสสา คชาชีวะ ๘๕)

สาส์นสมเด็จ และนิทานโบราณคดี เป็นพระนิพนธ์ที่อยู่ในรายชื่อหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๑๑ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๑ สำหรับหนังสือสาส์นสมเด็จ จัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของสังคมวิทยา, มานุษยวิทยาประวัติศาสตร์สังคม และหนังสือนิทานโบราณคดี อยู่ในหมวดหมู่ประวัติศาสตร์

สาส์นสมเด็จ เป็นชุดหนังสือรวมลายพระหัตถ์โต้ตอบในรูปแบบจดหมายเชิงวิชาการ ระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นเจ้าของพระนามย่อ ดร.” และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นเจ้าของพระนามอักษรย่อ น.” (เรียกว่า น. เทียนสิน) และนานาชาติที่รักงานทางศิลป์ อักษร น. หมายถึง นริศ อันเป็นพระนาม

สาส์นสมเด็จ เริ่มเขียนถึงกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ – ๒๔๘๖ ที่ทรงปรึกษาหารือ เล่าเรื่อง และโต้ตอบในเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการวิเคราะห์และวิจารณ์ รวมถึงถ้อยอรรถาธิบายในเรื่องศาสตร์และศิลป์หลายแขนงของไทย นอกจากนี้เนื้อหาในลายพระหัตถ์มีทั้งข้อราชการงานเมือง และเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม อักษรศาสตร์ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และโบราณคดี เป็นต้น

นิทานโบราณคดี เป็นหนังสือที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ เป็นการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ จากเรื่องจริง และเป็นเกร็ดนอกพงศาวดารเอาไว้ เนื่องจากหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา ได้ทูลว่าพระองค์ทรงเสด็จไปไหนมากมาย มีแก่นสารสาระ มีคติให้ข้อคิด และมีเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจอย่างมาก จึงอยากให้ทรงบันทึกเก็บไว้เพื่อให้กับอนุชนรุ่นหลังได้ทราบบ้าง นอกจากนิทานโบราณคดีจะเป็นเรื่องทางโบราณคดีแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม อีกด้วย

นิทานโบราณคดี ประกอบด้วยนิทาน ๒๑ เรื่อง อาทิเช่น นิทานที่ ๑ เรื่อง พระพุทธรูปประหลาด กล่าวถึง พระพุทธรูปที่ทรงนำมาจากเมืองทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าไม่ว่าพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่ไหน จะเป็นเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทซึ่งกันและกัน สำหรับนิทานที่ ๓ เรื่อง เสือใหญ่เมืองชุมพร เป็นเรื่องราวของเสือที่มีความดุร้ายแห่งเมืองชุมพร พระองค์ทรงบรรยายให้เห็นถึงสภาพภูมิศาสตร์ทางตอนใต้ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน เป็นต้น

เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่

แหล่งอ้างอิง :

กรมศิลปากร.  ๑๐ โบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗,
          จาก: https://www.finearts.go.th/main/view/19607

กระทรวงมหาดไทย.  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข.  [ออนไลน์]. 
         สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
จาก: https://www.youtube.com/watch?v=siyq5sS-StI, ๒๕๖๔.

จิรัสสา คชาชีวะ.  "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับงานโบราณคดี."  วารสารดำรงราชานุภาพ.  ๑๒, ๔๓ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๕๕): ๗๓-๘๗.

ดำรงราชานุภาพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา.  ความทรงจำ.  กรุงเทพฯ: มติชน๒๕๔๖.

สถาบันดำรงรานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย.  การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.  กรุงเทพฯ: สถาบันดำรงราชานุภาพ, ๒๕๕๕.

ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.  สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๕๗ - ๒๔๗๙.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗, จาก: https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๕๗-๒๔๗๙

ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.  สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๐ - ๒๔๘๖.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๗, จาก: https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๐-๒๔๘๖

(จำนวนผู้เข้าชม 28 ครั้ง)


Messenger