...

องค์ความรู้ : บุคคลสำคัญของไทย เรื่อง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กับปฐมบทสงคราม ๙ ทัพ ต้นรัตนโกสินทร์

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีได้เพียง ๓ ปี พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าได้บรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อังวะในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งพระเจ้าปดุง เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์พระเจ้าอลองพญา และในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงได้เตรียมกองทัพเพื่อยกเข้ามาตีโจมประเทศสยาม โดยเกณฑ์กำลังพลในเมืองหลวงและตามหัวเมืองที่เป็นเมืองขึ้นของทางพม่า ได้แก่ มอญ ยะไข่ ลาว ลื้อ และเงี้ยว เป็นต้น และสามารถเกณฑ์เข้ามาเป็นกองทัพได้หลายกอง มีกำลังพลทั้งสิ้น ๑๔๔,๐๐๐ นาย ซึ่งพระเจ้าปดุงได้จัดกองทัพใหญ่เป็น ๙ ทัพ เคลื่อนกำลังออกจากกรุงอังวะ เข้ามาโจมตีประเทศสยามพร้อมกันทั้ง ๕ เส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นทางบกและทางเรือ จึงเป็นที่มาของชื่อสงครามครั้งนี้ว่า สงคราม ๙ ทัพ สำหรับทางฝั่งพม่าได้แบ่งกองกำลังพลออกเป็น ๙ ทัพ คือ

ทัพที่ ๑ ให้ แมงยีแมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพมีทั้งทัพบก ทัพเรือ โดยยกทัพจำนวน ๑๐,๐๐๐ นาย ม้า ๑,๐๐๐ ตัว และเรือกำปั่นรบ ๑๕ ลำ ยกออกจากรุงอังวะ ในวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตั้งทัพที่เมืองมะริด และยกทัพเข้าโจมตีหัวเมืองทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองชุมพร ไชยา ไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช และสงขลา ส่วนทัพเรือเข้าโจมตีหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ตั้งแต่ตะกั่วป่า ไปตะกั่วทุ่งจนถึงเมืองถลาง ภูเก็ต

ทัพที่ ๒  ให้ อนอกแผกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพ โดยยกทัพจำนวน ๑๐,๐๐๐ นาย และม้า ๑,๐๐๐ ตัว ยกออกจากรุงอังวะในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พ.ศ. ๒๕๒๘ ลงมาตั้งที่เมืองทวาย ให้เดินเข้ามาด่านบ้องตี้ มาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และลงไปประจบกองทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร โดยแบ่งให้เจ้าเมืองทวายนำทัพจำนวน ๓,๐๐๐ นาย เป็นทัพหน้ายกมาก่อนทางด่านเจ้าขว้าว อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ทัพที่ ๓  ให้ หวุ่นคยีสะโดะศิริมหาอุจจะนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ โดยยกทัพจำนวน ๓๐,๐๐๐ นาย และม้า ๓,๐๐๐ ตัว ยกออกจากรุงอังวะ ในวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ พ.ศ. ๒๕๒๘ เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือทางเมืองเชียงแสนให้ลงมาตีเมืองลำปาง และหัวเมืองทางริมแม่น้ำแควใหญ่และน้ำยม ตั้งแต่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย มาสมทบกับทัพที่ ๙ ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเข้าตีเมืองตาก และลงมาบรรจบกองทัพหลวงที่กรุงเทพฯ

ทัพที่ ๔  ให้ เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพหน้า ทัพที่ ๑ ของทัพหลวงพระเจ้าปดุง ยกทัพจำนวน ๑๑,๐๐๐ นาย และม้า ๑,๑๐๐ ตัว โดยยกลงมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเข้ามาตีกรุงเทพฯ

ทัพที่ ๕  ให้ เมียนเมหวุ่น เป็นแม่ทัพหน้า ทัพที่ ๒ โดยยกทัพจำนวน ๕,๐๐๐ นาย มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ และเป็นทัพหนุนทัพที่ ๔

ทัพที่ ๖  ให้ ตะแคงกามะ ราชบุตรที่ ๒ (พม่าเรียกว่า ศิริธรรมราชา) เป็นแม่ทัพหน้าของทัพหลวงพระเจ้าปดุง โดยยกทัพจำนวน ๑๒,๐๐๐ นาย และม้า ๑,๒๐๐ ตัว ทางด่านพระเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเข้ามาตีกรุงเทพฯ

ทัพที่ ๗  ให้ ตะแคงจักกุ ราชบุตรที่ ๓ (พม่าเรียกว่า สะโดะมันซอ) เป็นแม่ทัพหน้า ทัพที่ ๒ ของทัพหลวงพระเจ้าปดุง โดยยกทัพจำนวน ๑๑,๐๐๐ นาย และม้า ๑,๑๐๐ ตัว มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เพื่อเข้ามาตีกรุงเทพฯ

ทัพที่ ๘ กองทัพหลวงของพระเจ้าปดุง เป็นจอมพลยกทัพหลวง และเป็นกองทัพใหญ่ที่สุด โดยยกทัพจำนวน ๕๐,๐๐๐ นาย ช้าง ๕๐๐ เชือก และม้า ๕,๐๐๐ ตัว ทรงเคลื่อนทัพ ในวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๕๒๘ เสด็จลงมาเมืองเมาะตะมะ ในวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๒๕๒๘ ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือ และใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะเข้ารบกับทางฝั่งสยามที่กรุงเทพฯ โดยทรงมอบหมายให้มหาอุปราชอยู่รักษากรุงอังวะ

ก่อนหน้านี้ พระเจ้าปดุง ได้ให้ แมงยีแมงข่องกยอ ทัพที่ ๑ ทำหน้าที่รวบรวมเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพหลวงที่จะยกทัพขนาดใหญ่มาที่เมืองเมาะตะมะ ครั้นเมื่อกองทัพหลวงยกลงมาถึงตามที่กำหนดแล้ว แมงยีแมงข่องกยอ ไม่สามารถรวบรวมเสบียงอาหารไว้ได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้แมงยีแมงข่องกยอได้ออกเดินทางไปยังเมืองมะริดไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้พระเจ้าปดุงทรงพระพิโรธเป็นอย่างมาก พร้อมรับสั่งให้ทำการเรียกตัว แมงยีแมงข่องกยอ กลับมารับโทษที่เมืองเมาะตะมะในทันทีและได้ถูกลงโทษประหารชีวิต หลังจากนั้นพระเจ้าปดุง ได้แต่งตั้ง แกงหวุ่นแมงยี มหาสีหสุระ อรรคมหาเสนาบดี เป็นแม่ทัพแทน

ทัพที่ ๙  ให้ จอข่องนรทา เป็นแม่ทัพ โดยยกทัพจำนวน ๕,๐๐๐ นาย ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เข้าตีหัวเมืองทางริมแม่น้ำ ตั้งแต่เมืองตาก เมืองกำแพงเพชร แล้วมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพฯ

กองทัพ ๙ ทัพ กำหนดให้ยกเข้ามาตีเมืองไทยในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง พร้อมกันทุกทัพ  กล่าวคือจะเข้ามาโจมตีกรุงเทพฯ ทั้งหมด ๕ ทัพ เป็นจำนวนพล ๘๙,๐๐๐ นาย ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๒ ทัพ เป็นจำนวนพล ๓๕,๐๐๐ นาย และตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ๒ ทัพ จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ นาย จำนวนพลของข้าศึกที่ยกมาตีเมืองประเทศสยามในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน ๑๔๔,๐๐๐๐ นาย ด้วยกัน

สำหรับกองทหารมอญลาดตระเวน สืบทราบความว่ากองทัพพม่าได้มาตั้งทัพอยู่ที่เมืองเมาะตะมะและจะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยกกองทัพขนาดใหญ่ยกเข้าโจมตีกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทราบข่าวการศึกแล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่พร้อมกันหน้าพระที่นั่ง พระองค์ทรงปรึกษาราชการสงครามที่จะต่อสู้กับพม่าข้าศึกในครั้งนี้ ว่าทางฝ่ายสยามสามารถรวบรวมกองกำลังไพล่พล ทั้งหมดได้ประมาณ ๗๐,๐๐๐ นาย ซึ่งน้อยกว่าข้าศึกกว่าเท่าตัว และทรงออกหนังสือไปยังหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองถลาง เมืองชุมพร เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองกำแพงเพชร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองตาก และเมืองลำปาง เป็นต้น ว่าข้าศึกทางพม่าจะยกเข้ามาโจมตีหลายเส้นทาง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเปลี่ยนกลศึกสงครามเป็นการยกกองกำลังไปตั้งรับนอกราชธานี เพื่อไม่ให้พลาดเหมือนครั้งในอดีตดังเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยาที่ใช้พระนครเป็นที่ตั้งรับ พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้จัดกระบวนทัพรับข้าศึกของทางฝั่งพม่า ซึ่งถ้าหากแบ่งกองทัพไปต่อสู้รักษาเขตแดนในทุกเส้นทางแล้วจะเป็นการเสียเปรียบข้าศึกเป็นอย่างมาก เพราะเหตุนี้พระองค์ทรงรวบรวมกำลังไปต่อสู้ข้าศึกในแต่ละเส้นทางที่สำคัญก่อน หากเอาชัยชนะข้าศึกเส้นทางหนึ่งเส้นทางใดได้แล้ว จึงค่อยนำทัพปราบปรามข้าศึกในเส้นทางอื่นๆ ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯ ให้จัดกองทัพสำหรับที่จะต่อสู้เป็น ๔ ทัพ คือ

ทัพที่ ๑  ให้ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ รวมทั้งเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหกลาโหม เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และพระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) โดยยกทัพจำนวน ๑๕,๐๐๐ นาย เสด็จยกทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองนครสวรรค์ คอยป้องกันอย่าให้กองทัพพม่าที่ยกลงมาทางด้านเหนือล่วงเลยมาถึงกรุงเทพฯ ได้ ในขณะที่กองทัพประเทศสยามกำลังต่อสู้ข้าศึกทางฝั่งพม่าที่เมืองกาญจนบุรี

ทัพที่ ๒ ให้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นกองทัพใหญ่ โดยยกทัพจำนวน ๓๐,๐๐๐ นาย เสด็จพระราชดำเนินเป็นจอมพล ยกทัพหลวงไปตั้งรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี พร้อมทั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระยากลาโหมราชเสนา (พระชัยบูรณ์) และพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) และเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) สมุหนายก คุมทัพฝ่ายพระราชวังหลวงและฝ่ายเหนือไปสบทบอีกทัพหนึ่ง คอยต่อสู้กองทัพพระเจ้าปดุง ที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ ๓  ให้ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด บุณยรัตพันธุ์) กับเจ้าพระยายมราช (ทองอิน) โดยยกทัพจำนวน ๕,๐๐๐ นาย ไปตั้งรับพม่าอยู่ที่เมืองราชบุรี รักษาทางลำเลียงของกองทัพที่ ๒  และคอยต่อสู้พม่า ซึ่งจะยกมาแต่ทางข้างใต้หรือทางเมืองทวาย

ทัพที่ ๔  กองทัพหลวงจัดเตรียมไว้ในกรุงเทพฯ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงบัญชาการทัพหลวงเป็นกำลังหนุน จำนวนพล ๒๐,๐๐๐ นาย ซึ่งถ้าหากกำลังศึกทางด้านไหนเพลี่ยงพล้ำหรือเป็นฝ่ายเสียเปรียบ พระองค์จะคอยเป็นกำลังหนุนและยกทัพไปช่วยในทันที

ขณะเดียวกันทางฝ่ายกรุงรัตนโกสินทร์ สืบทราบว่ากองทัพของพระเจ้าปดุงกำลังประสบปัญหาเสบียง สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงวางแผนในการเข้าโจมตีเสบียงของทัพพม่าเป็นการเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญของกองทัพพม่า จนสามารถสกัดกั้นทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ให้ติดอยู่บริเวณช่องเขา แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดมทำให้ทัพพม่าแตกพ่ายไปคนละทิศคนละทาง และยังสามารถจับเชลยสงคราม พาหนะ เสบียงอาหาร รวมถึงศัสตราวุธ ไว้ได้อีกเป็นจำนวนมาก และพระองค์ทรงยกทัพไปช่วยเส้นทางทางอื่นๆ จนได้รับชัยชนะ

พระเจ้าปดุง ทรงรับรู้ถึงสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้กองทัพฝ่ายพม่าสามารถเอาชนะในศึกครั้งนี้ได้ หากสู้รบต่อไปก็คงจะมีแต่สูญเสียกำลังพลมากขึ้น จึงทรงยกทัพหลวง ในวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๒๕๒๙ ออกจากท่าไร่ ถอยกลับไปตั้งหลักประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ แล้วจึงเสด็จกลับกรุงอังวะ ส่วนทัพที่เหลือได้ทยอยยกทัพกลับกรุงอังวะเช่นกัน

สงคราม ๙ ทัพ เป็นสงครามใหญ่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ถือว่าเป็นปฐมบทสงครามต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการป้องกันประเทศหรือรักษาเอกราชของชาติสืบไป

เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

แหล่งอ้างอิง :

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.  พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า).  กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๘.

กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์.  พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๕๖.  ม.ป.พ.๒๔๕๖.

โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗,
         จาก: 
https://www.facebook.com/photo/?fbid=293516955724353&set%0b=pcb.293517275724321, ๒๕๖๔.

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗,
         จาก: 
https://www.facebook.com/photo/?fbid=353341073724787&set=pcb.353356787056549, ๒๕๖๖.

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗,
         จาก: 
https://www.facebook.com/photo/?fbid=353392403719654&set=pcb.353356787056549, ๒๕๖๖.

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗,
         จาก: 
https://www.facebook.com/photo/?fbid=387839783608249&set=pcb.387848120274082, ๒๕๖๗.

ส่วนการท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร.  พาไปสักการะสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ขอพรความสำเร็จ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗,
         จาก: https://www.youtube.com/watch?v=JHLTEnl2Db0, ๒๕๖๗.

หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน.  สู้ศึกเก้าทัพในรัชกาลที่ ๑. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗จาก: https://www.rcac84.com/art_collection/สู้ศึกเก้าทัพในรัชกาลท/

ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗,
         จาก: 
https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๓๒-ศึกพม่าครั้งที่-๑

(จำนวนผู้เข้าชม 105 ครั้ง)


Messenger