พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ พระองค์ทรงร่วมรับหน้าที่บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงเป็นผู้บังคับการกรมช่างมหาดเล็ก ต่อมาทรงบังคับบัญชางานช่างต่างๆ ร่วมถึงงานบูรณปฏิสังขรณ์ และงานงานโยธาในก่อสร้างสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นใน (พระบรมมหาราชวัง), พระราชวังบางปะอิน, สวนสราญรมย์, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, พระจุฑาธุชราชฐาน, พระราชวังสวนดุสิต, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และวัดดาวดึงษาราม เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นช่างทองฝีพระหัตถ์ชั้นเยี่ยมแห่งราชสำนัก ซึ่งทางชาววัง ขนานพระนามพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าช่างทอง”
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถในการถ่ายภาพยนตร์ ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่ถ่ายภาพยนตร์ ผลงานฝีพระหัตถ์ ได้แก่ ภาพบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นับเป็นภาพยนตร์ม้วนแรกสุดในโลกที่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชาติไทย รวมถึงภาพบันทึกพระราชกรณียกิจล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงได้รับการถวายสมัญญาพระนามว่า “พระบิดาแห่งการภาพยนตร์ไทย”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าในสมัยเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ควรจะทำการพระราชพิธีและบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองรัชกาลให้เป็นสิริมงคล ส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่บ้านเมือง จึงโปรดฯ ให้ทำพระราชพิธี ทรงแบ่งเป็นงานเป็น ๒ ภาค ภาคที่ ๑ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระอดีตมหาราช กับทั้งพระราชวงศ์ และทรงอุทิศแด่บรรพบุรุษ ผู้มีคุณูปการแก่บ้านเมืองมาแต่ปางก่อน ทรงบำเพ็ญ ณ พระราชวังบางปะอิน ในปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และภาคที่ ๒ จัดเป็นการพระราชพิธีราชาภิเษก ณ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องสักการะทรงพระราชอุทิศถวายเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี ตลอดจนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงยกย่องพระเกียรติคุณพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนคุณงามความดีของขุนนางข้าราชการในอดีตที่มีเกียรติคุณที่ปรากฏอยู่ในอดีตของประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์ เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพาตรศุภกิจ ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านงานพระนิพนธ์ พระองค์ทรงแต่งกาพย์ฉบังเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในหนังสือกลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน หรือเรียกกันว่า “จารึกลับแลไฟที่บางประอิน” ในพระราชพิธีรัชดาภิเษกในรัชกาลที่ ๕ ในครั้งนี้ด้วย
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
แหล่งอ้างอิง :
กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปอิน เมื่องานรัชฎาภิเศกในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๔.
(พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ทรงพิมพ์เปนของชำร่วยในงานฉลองพระสุพรรณบัฏ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔).
ราชบัณฑิตยสภา. เฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๓๘.
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). ๑๗ ตุลาคม วันสรรพสาตร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๗,
จาก: https://www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage/photos/a.119640254752850/2084899058226950/?type=3
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). พระรูปประติมากรรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๗, จาก: https://www.fapot.or.th/main/sculpture.
อัศวิน ทองแถม ณ อยุธยา. อันเตปุริกามาตย์ สรรพสาตรานุสรณีย์ : พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ.
กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๑.
Thairoyalfamily. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๗,
จาก: https://www.facebook.com/thairoyalfamily/photos/a.1476743735697926/1742932285745735/?type=3, ๒๕๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 125 ครั้ง)