สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ ทรงได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) เกียรตินิยม ชั้น Cum Laude ในเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ. ๒๔๗๑ หรือ ค.ศ. ๑๙๒๘ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคม เกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omega Alpha จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) พระองค์เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
“ก่อนที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จะเสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้มีพระราชหัตถเลขาว่ามีพระราชประสงค์จะทรงทำหน้าที่แพทย์ประจำบ้าน (Internship) แผนกเด็กที่โรงพยาบาลศิริราช แต่เนื่องด้วยพระฐานันดรศักดิ์อันสูงยิ่ง ทำให้โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มิกล้ารับท่านในตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านที่ต้องสัมผัสรักษาคนไข้ทั่วๆ ไปและต้องรับคำสั่งจากแพทย์สามัญที่อาวุโสมากกว่าตามอายุงาน และสายบังคับบัญชา”
พระองค์ทรงระลึกถึงโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่ทรงเสด็จไปทำพิธีเปิดโรงพยาบาลสมัยดำรงตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ ทั้งยังทรงมีความสนิทสนมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงทรงเปลี่ยนพระราชหฤทัยเสด็จไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเสด็จจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ไปจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยเสด็จถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ ในวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เวลา ๑๘.๓๐ น.
พลโทพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงค์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เฝ้ารับเสด็จ และนำเสด็จไปยังจวนเทศาภิบาล จากนั้นจึงทรงเสด็จไปประทับที่บ้าน นายแพทย์ เอ็ดวิน ชาร์ลส์ คอร์ท (Dr. Edwin Charles Cort) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงงานแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน ถึง ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นระยะเวลา ๒๑ วัน โดยที่พระองค์เสด็จมาปฏิบัติพระกรณียกิจอย่างแพทย์สามัญด้วยความเอาพระทัยใส่อย่างเต็มที่ตลอดเวลา ทรงทำเวชปฏิบัติในฐานะแพทย์ เพื่อพัฒนาการแพทย์ไทยโดยรวม ตลอดระยะเวลาที่ทรงงานถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวเชียงใหม่ ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนที่ได้มีโอกาสได้รับพระกรุณาธิคุณอย่างใกล้ชิด
หลังเสวยพระกระยาหารเช้าแล้วก็จะทรงดำเนินจากบ้านพักมากับหมอคอร์ท เพื่อทรงออกตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกพร้อมกับหมอคอร์ท ในแต่ละวันผู้ป่วยมากตอนเที่ยงแล้วผู้ป่วยยังไม่หมดก็ทรงตรวจต่อไป บางวันได้เสวยพระกระยาหารกลางวันถึงบ่ายโมง ทรงตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น ด้วยพระองค์เอง เมื่อหมอคอร์ท เข้าผ่าตัด พระองค์ท่านก็จะได้ทรงช่วยผ่าตัดจนแล้วเสร็จ ส่วนตอนกลางคืนก่อนบรรทม ทรงเสด็จตรวจเยี่ยมผู้ป่วยทุกเตียง
นอกจากทรงมีพระเมตตาต่อผู้ป่วยแล้ว พระราชอัธยาศัยและในการวางพระองค์ต่อบรรดาแพทย์ และพยาบาล เป็นไปอย่างเรียบง่ายโดยไม่ถือพระองค์
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงได้รับการถวายพระสมัญญาว่า “หมอเจ้าฟ้า” หรือ “หมอน้อย” ซึ่งเป็นคำที่ชาวเชียงใหม่ใช้เรียกสมเด็จพระบรมราชชนก ด้วยความรักและเทิดทูนในพระเมตตากรุณาที่ทรงมีต่อผู้ป่วยทุกชั้นวรรณะมุ่งแต่จะรักษาผู้ป่วยโดยไม่ยึดติดในอิสริยยศอันสูงศักดิ์แต่อย่างใด อันเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยเป็นอย่างมาก และทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยและการสาธารณสุขไทย” จนเป็นที่ประจักษ์ ทรงเป็นแบบอย่างและวางรากฐานที่มั่นคงต่อวงทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขของไทย
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพยาบาลและการสาธารณสุข เนื่องในวาระฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าปีติยินดีที่พระมหากษัตริย์ไทย ได้ทรงสร้างสรรค์ผลงานอย่างมากมายสืบมาจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
แหล่งอ้างอิง :
กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. งานต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.tbthailand.org/download/Manual/งานต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย_NEW.pdf
ไทยพีบีเอส (Thai PBS). รายการความจริงไม่ตาย : หมอเจ้าฟ้า ตอนที่ ๑ นักเรียนแพทย์แห่งฮาร์วาร์ด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.thaipbs.or.th/program/TruthNeverDies/episodes/81199, ๒๕๖๔.
ไทยพีบีเอส (Thai PBS). รายการความจริงไม่ตาย : หมอเจ้าฟ้า ตอนที่ ๒ แพทย์ประจำบ้านที่แมคคอร์มิค. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.thaipbs.or.th/program/TruthNeverDies/episodes/81351, ๒๕๖๔.
พิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ในพระราชูปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.facebook.com/doctorprincemuseum/
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค. ๒๑ วันทรงงานแพทย์ ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.youtube.com/watch?v=4BPia2aZ7VA, ๒๕๖๖.
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค. ประวัติการก่อตั้งโรงพยาบาลแมคคอร์มิค. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗, จาก: https://www.mccormickhospital.com/web/aboutus
โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน. สารคดีเฉลิมพระเกียรติ วันมหิดล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.facebook.com/royaljitarsaschool/videos/สารคดีเฉลิมพระเกียรติ-วันมหิดล/611061632906484/, ๒๕๖๓.
มหาวิทยาลัยมหิดล. จดหมายเหตุพระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์). [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗, จาก: https://mahidol.ac.th/temp/document/prabida/missive.pdf
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์. องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๗,
จาก: https://www.princemahidolaward.org/th/the-father-of-modern-medicine-and-public-health-of-thailand/
(จำนวนผู้เข้าชม 145 ครั้ง)