วัดแสนฝาง เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังราย อยู่บนถนนท่าแพ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตวัดแห่งนี้เรียกว่า “วัดแสนฝัง” เนื่องจากมีอยู่ว่าเมื่อพญาแสนภู ทรงมีพระราชประสงค์จะฝากฝังขุมพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้ในพระพุทธศาสนา ตามแบบอย่างพระอัยกาและพระราชธิดา โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฝังพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้ในที่รกร้างว่างเปล่าใกล้ๆ แม่น้ำสายเล็ก และห่างจากแม่น้ำปิงพอประมาณ โดยคำว่า “แสน” มาจากชื่อของพระองค์ ส่วนคำว่า “ฝัง” คือ การบริจาคพระราชทรัพย์ของพระองค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดแสนฝัง” ในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดแสนฝาง” มาจนถึงทุกวันนี้
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทีมงานและคณะ ของนายเฮนรี่ อเล็กซานเดอร์ แม็กเร (Henry Alexander MacRae) ผู้กำกับภาพยนตร์ สามารถเข้าถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่องนางสาวสุวรรณ (Suvarna of Siam) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาวชาวสยามในสมัยนั้น สำหรับนางเอก คือ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร รับบทเป็น สุวรรณ ส่วนพระเอก คือ ขุนรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฏ) รับบทเป็น กล้าหาญ พญานาคคู่นี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๓ และเป็นส่วนหนึ่งของฉากภาพยนตร์เรื่องแรกของไทย
เรียบเรียงโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
แหล่งอ้างอิง :
โดม สุขวงศ์ และ สวัสดิ์ สุวรรณปักษ์. ร้อยปีหนังไทย. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, ๒๕๔๕.
ประวัติสังเขปพระครูประจักษ์พัฒนคุณ ประวัติวัดแสนฝาง คำไหว้อาลัยบุคคลสำคัญ. เชียงใหม่: ม.ป.ท., ๒๕๕๘.
เรื่องเล่าชาวล้านนา. วัดแสนฝางย่านถนนท่าแพ เชียงใหม่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๗,
จาก: https://www.facebook.com/100057189501383/photos/999793825270258/, ๒๕๖๗.
อนุ เนินหาด. วัดแสนฝาง สังคมเมืองเชียงใหม่ เล่มที่ ๒๘. เชียงใหม่: พลอยการพิมพ์เชียงใหม่, ๒๕๕๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 146 ครั้ง)