ภาพยนตร์สารคดีสร้างโดยสองนักสร้างภาพยนตร์ คือ มีเรียน ซี. คูเปอร์ (Merian C. Cooper) และเออร์เนส บี โชคแส็ค (Ernest B Chocksaek) มีผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก คือเรื่อง Grass สร้างในปีพ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่าบัคเทียรี (Bakhtiari) กับประเพณีการเดินทางสำรวจฝ่าเส้นทางอันตรายใกล้เขตช่องเขา Zardeh Kuh เทือกเขาซากรอส (Zagros) อยู่ในภาคตะวันตกของแคว้นเปอร์เซีย (Persia) ประเทศอิหร่าน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ มีผลงาน เรื่องช้าง (Chang: A Drama of the Wilderness) ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่ได้ถ่ายทำในประเทศสยาม (ในขณะนั้น) โดยเริ่มถ่ายทำในสยาม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนายเซียวซองอ๊วน สีบุญเรือน (เจ้าของบริษัท พยนต์พัฒนากร ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น บริษัท ภาพยนตร์พัฒนากร จำกัด และมีโรงภาพยนตร์พัฒนากรเป็นของตัวเอง)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผลิตโดย บริษัท พาราเมาท์ พิกเจอส์ จำกัด ใช้เวลาถ่ายทำเกือบสองปี ใช้เงินงบประมาณ ๙๕,๐๐๐ เหรียญ หรือประมาณสองแสนบาทไทย (ในขณะนั้น) เป็นภาพยนตร์เงียบขาว-ดำ ความยาวประมาณ ๖๕ นาที ถ่ายทำในพื้นที่ป่าภาคเหนือตอนบนของประเทศสยามเป็นส่วนใหญ่ โดยเล่าถึงเรื่องราวของชีวิตครอบครัวของนายครู ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวที่อยู่ป่าในสยามที่ต้องการบุกเบิกผืนป่าเพื่อทำนา และต้องอยู่ร่วมกับสัตว์ป่า ส่วนลูกสัตว์ป่าบางตัวก็นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงและไว้ใช้งาน เช่น ลิ่นหรือนิ่ม, หมี, เสือโคร่ง, ตัวเงินตัวทอง, เสือดาว, ช้าง, แพะ, ควาย และชะนี เป็นต้น…
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่โรงภาพยนตร์ในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าเมื่อออกฉายก็ได้รับความสนใจและสามารถสร้างชื่อเสียงของประเทศสยามให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนได้รับรางวัลออสการ์ ครั้งที่ ๑ ประจำปี ค.ศ. ๑๙๒๗ ในสาขาการสร้างที่พิเศษและมีศิลปะยอดเยี่ยม (Unique and Artistic Production) และออกฉายครั้งแรกในประเทศสยาม เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในดินแดนสยามและเป็นเรื่องแรก อาจไม่ทำให้ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนภาพยนตร์ในยุคปัจจุบัน แต่หากพิจารณาจริงๆ แล้วในตอนนั้น ยังมีป่า สัตว์ป่า ผู้คนอาศัยอยู่ในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง รวมถึงเรื่องราว วิถีชีวิต หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งในสมัยนั้นการทำร้ายสัตว์ป่า เพียงเพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อความอยู่รอดของคนที่อยู่อาศัยอยู่ในผืนป่า และในอดีตนั้นยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าไว้อย่างนั่นเอง
นอกจากนี้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๓ (พ.ศ. ๒๔๗๖) สองผู้กำกับดังกล่าวร่วมงานกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง คิงคอง (King Kong) ถือว่าเป็นภาพยนตร์คลาสสิคและเป็นยุคฟิล์ม ๘ ม.ม. โดยเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ ทีมนักสร้างภาพยนตร์คณะหนึ่งเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์ ยังเกาะหัวกะโหลกอันห่างไกลแสนลี้ลับแห่งหนึ่ง และมีการเล่าขานถึงตำนานว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของเจ้าลิงยักษ์ขนาดใหญ่ จนได้พบเจอเจ้าลิงยักษ์แล้วต้องการจับตัวมันกลับมาแสดงโชว์ที่นครนิวยอร์ก แต่เจ้าลิงยักษ์ดันตกหลุมรักดาราสาวผมทองที่แสดงเป็นตัวเอกในภาพยนตร์ของเรื่องจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก...
เรียบเรียงและรวบรวมโดย : นายธีรบูลย์ มิตรมโนชัย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
แหล่งอ้างอิง :
ณ.คอน ลับแล. Chang: A Drama of the Wilderness (1927). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖,
จาก https://raremeat.blog/chang-a-drama-of-the-wilderness-1927/, ๒๕๖๐.
ณ.คอน ลับแล. Grass (1925). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖, จาก https://raremeat.blog/grass-1925/, ๒๕๖๓.
สมาคมผู้พิทักษ์ป่า Thai Ranger Association. ช้าง (Chang: A Drama of the Wilderness) เป็นภาพยนตร์สารคดี เรื่องแรกที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย. [ออนไลน์].
สืบค้นเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖, จาก https://www.facebook.com/thairanger/videos/ช้าง-chang-a-drama-of-the-wilderness-
เป็นภาพยนตร์สารคดี-เรื่องแรกที่เข้ามาถ่ายทำ/320621345666703/, ๒๕๖๓.
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). ช้าง (CHANG). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖, จาก
https://www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage/photos/ช้าง-changความยาว-65-นาที-ขาวดำเงียบปีที่สร้าง-2470ปี-2468-มีเรียน-ซี-คูเปอร์-แล/2481124521937733/, ๒๕๖๒.
The Internet Movie Database. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๖, จาก https://www.imdb.com/.
(จำนวนผู้เข้าชม 1014 ครั้ง)