กาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕
ชื่อเรื่อง : กาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕
ผู้เขียน : กรมศิลปากร
สำนักพิมพ์ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ปีพิมพ์ : ๒๕๖๒
เลขประจำตัวมาตรฐานสากล : ๙๗๘-๖๑๖-๒๘๓-๔๕๔-๗
เลขเรียกหนังสือ : ๖๑๖.๙๒๓๒ ศ๕๒๘ก
ประเภทหนังสือ : หนังสือกรมศิลปากร
ห้องบริการ : ห้องหนังสือทั่วไป ๑
สาระสังเขป : โรคระบาดนับว่าเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากโดยไม่ได้จำกัดอายุ เพศ เชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้น ปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงแต่พรากชีวิตของคนตาย แต่หากยังพรากชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน บางครั้งต้องละทิ้งชุมชน อพยพย้ายถิ่นฐานหนีโรคร้ายไปตั้งชุมชนใหม่ สำหรับประเทศไทยนั้นก็ประสบกับสถานการณ์โรคระบาดมามากมายหลายครั้ง โดยโรคระบาดที่สำคัญและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยอย่างยิ่งโรคหนึ่งนั้นคือ กาฬโรค (Plague) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีหนูและหมัดเป็นพาหะโรค เป็นโรคระบาดที่รุนแรงและรวดเร็วทำให้มีการเสียชีวิตจำนวนมาก กาฬโรคเริ่มเข้ามาระบาดในเมืองไทยตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เริ่มปรากฏชัดเจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดย "กาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕" เป็นงานที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง ตรวจสอบชำระ และแปลเอกสารประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการระบาดของกาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕ จากเอกสาร จำนวน ๔ รายการ คือ (๑) ตำราแพทย์แสดงด้วยกาฬโรค กล่าวถึงประวัติความเป็นมาและวิธีป้องกันกาฬโรค (๒) ประมวลจดหมายเหตุเกี่ยวกับกาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕ กล่าวถึงการป้องกันกาฬโรค จากเอกสารแหล่งต่างๆ ทั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา และวารสารต่างประเทศ ต้นฉบับมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (๓) ประกาศป้องกันกาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นการรวบรวมประกาศและกฏหมายป้องกันกาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕ ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาและชุดหนังสือกฎหมาย และ (๔) ลำดับเหตุการณ์ สำคัญเกี่ยวกับกาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่น การจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ (๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๐) กาฬโรคระบาดที่ภูเก็ต (พฤษภาคม - มิถุนายน ๒๔๔๔) การตั้งโรงพยาบาลกาฬโรคที่คลองสาน (กุมภาพันธ์ ๒๔๔๗) ประกาศจัดการป้องกันกาฬโรคในหัวเมือง กำหนดให้แจ้งความเมื่อมีผู้ป่วยเป็นกาฬโรค (๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙) นายแพทย์ยอร์ช แมกฟาร์แลนด์ พิมเผยแพร่ตำราแพทย์แสดงด้วยกาฬโรค (มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓) อีกทั้งยังมีเรื่องของกาฬโรคกับสังคมไทย และสมมุติฐานเรื่องกาฬโรคสมัยพระเจ้าอู่ทอง เพื่อศึกษาวิธีการของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของกาฬโรคตามหลักการแพทย์ตะวันตกเพื่อป้องกันและระงับการระบาดของกาฬโรคมิให้สูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก ด้วยมุ่งหวังเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขของไทยให้ปรากฏแก่ผู้สนใจและสาธารณชน อีกทั้งเป็นเอกสารประวัติศาสตรที่อำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าอ้างอิงทางวิชาการสืบต่อไป
(จำนวนผู้เข้าชม 1462 ครั้ง)