สมุดไทย บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม
ชื่อเรื่อง : สมุดไทย บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม
ผู้เขียน : -
สำนักพิมพ์ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ปีพิมพ์ : ๒๕๖๓
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ : ๙๗๘-๖๑๖-๕๔๓-๖๔๒-๗
เลขเรียกหนังสือ : ๓๐๖.๐๙๕๙๓ ส๓๑๔
ประภทหนังสือ : หนังสือทั่วไป
ห้องบริการ : ห้องหนังสือทั่วไป ๑
สาระสังเขป : สมุดไทย นับเป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่งที่ถือเป็นมรดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งใช้บันทึกความรู้สรรพตำราต่างๆ ในสมัยที่ยังไม่มีการพิมพ์ โดยมีลักษณะรูปเล่มแบบไทยเป็นกระดาษพับกลับไปกลับมาเป็นชั้นๆ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตามแนวระนาบ สมุดไทยที่ผลิตขึ้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาคหรือพื้นที่หรือตามวัสดุที่นำมาใช้ผลิต ได้แก่ สมุดข่อย (ภาคกลาง) พับสา (ภาคเหนือ) หนังสือบุด (ภาคใต้) จนถึงช่วงสมัยที่การพิมพ์หนังสือตามวิธีของชาติตะวันตกเป็นที่แพร่หลายขึ้น สมุดไทยจึงค่อยเสื่อมคลายความนิยมลงตามลำดับ หากแต่สรรพวิทยาการนานาสาขาที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานยังคงมีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิทยาการของชนชาติไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ซึ่ง "สมุดไทย บันทึกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมสยาม" ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุดไทยทั้งในเรื่องความเป็นมา ชนิดและขนาด การบันทึกสมุดไทย การทำสมุดไทย ตั้งแต่การทำกระดาษ หล่อกระดาษ ลบสมุด และทำเล่ม สมุดภาพจิตกรกรรมไทย เรื่องราวในสมุดภาพจิตรกรรมไทย สมุดภาพไตรภูมิ สมุดมาลัย ชาดกและพุทธประวัติ ตำราองค์ความรู้ภูมิปัญญาของไทย เช่น ตำราช้างหรือตำราคชลักษณ์ ตำราม้าหรือตำราอัศวลักษณ์ ตำราเทวรูป ตำราเลขยันต์ ตำราพรหมชาติและตำราแม่ซื้อ ตำรารำและตำราภาพจับ ภาพแสดงวัฒนธรรมด้านอื่นๆ และวิถีธรรมชาติ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำเสนอภาพเรื่องราวจากภายในสมุดไทยเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย เช่น ภาพสมุดมาลัยแสดงภาพตอนพระมาลัยสนทนากับพระศรีอาริยเทพบุตรและพระอินทร์ ภาพมหาเวสสันดรชาดก พระอินทร์จำแลงเป็นพราหมณ์ขอพระราชทานพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร ภาพมาตังคกรีเทพ เทวดา ๒๖ องค์ ที่รักษาร่างกายส่วนต่างๆ ของช้างจากสมุดภาพตำราช้าง ภาพยันต์อัคคีพินาศ ยันต์โสฬสมหามงคล และยันต์จตุโรตรีนิสิงเหจากตำรายันต์ ภาพแสดงแม่ซื้อเด็กวันอาทิตย์จากตำราแม่ซื่อ เป็นต้น ด้วยมุ่งหวังเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีอยู่ในสมุดไทยได้เป็นที่รู้จัก เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายแก่สาธารณชน และยังเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติไทยสืบไป
(จำนวนผู้เข้าชม 1570 ครั้ง)