...

รายการตำรายาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๑



     ชื่อเรื่อง :
รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๑ = National Thai Traditional Medicine                          Formulary (2018 edition)

     ผู้เขียน : สถาบันการแพทย์แผนไทย

     สำนักพิมพ์ : กระทรวงสาธารณสุข

     ปีพิมพ์ : ๒๕๖๑

     เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ : ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๓๗๑๔-๔

     เลขเรียกหนังสือ : ๖๑๕.๓๒๑ ก๔๙๕ร

     ประเภทหนังสือ : หนังสือทั่วไป

     ห้องบริการ : ห้องหนังสือทั่วไป ๑

สาระสังเขป : การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชนคนไทยในระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง โดยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำให้ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพรได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น "รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นเอกสารทางการที่ได้รวบรวมตำรับยาแผนไทยจากแหล่งสำคัญ ๔ แหล่ง ได้แก่ ตำรับยาจากตำราการแพทย์แผนไทย ตำรับยาเกร็ดที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยยังนิยมใช้ปรุงยาให้แก่ผู้ป่วย ตำรับยาจากบัญชียาสมุนไพรในบัญชีหลักแห่งชาติ และประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ โดยเนื้อหาประกอบด้วยตำรับยากว่า ๑๐๐ ตำรับ เช่น ยาแก้ซางเพลิง ยาแก้ลมปัตฆาต ยาแก้ไอผสมตรีผลา ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง ยาน้ำมันแก้แผลเปื่อย ยาประสะกานพลู ยาปลูกธาตุไฟ ยามหานิลแท่งทอง ยาริดสีดวงมหากาฬ  ยาเลือดงาม ยาสตรีหลังคลอด ยาหอมนวโกฐ  ยาห้าราก ยาเหลืองปิดสมุทร ยาอำมฤควาที เป็นต้น สำหรับ ๖ กลุ่มโรคหรือกลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มโรคโลหิตระดูสตรี กลุ่มโรคเด็ก  กลุ่มโรคลม กลุ่มไข้ กลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ และกลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร โดยตำรับยาแต่ละตำรับจะประกอบด้วยรายละเอียดของชื่อตำรับยา ชื่ออื่น ที่มาของตำรับยา สูตรตำรับยา สรรพคุณ รูปแบบยา ขนาดและวิธีใช้ ข้อห้ามใช้ คำเตือน ข้อควรระวัง ข้อมูลเพิ่มเติม และเอกสารอ้างอิง อีกทั้งยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาต่างๆ ที่ใช้ในตำรับยาทั้ง ๑๐๐ ตำรับ ได้แก่ (๑) เภสัชวัตถุ เป็นการรวามตัวยาหรือเภสัชวัตถุทั้งพืช สัตว์และธาตุทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งให้ข้อมูลของชื่อไทย ส่วนที่ใช้ ชื่อละติน และชื่อวิทยาศาสตร์ (๒) การเตรียมตัวยาก่อนใช้ปรุงยา เป็นการประสะ สะตุ หรือกระบวนการฆ่าเชื้อของตัวยาบางชนิดก่อนนำไปใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (๓) วิธีการปรุงยา เป็นการเตรียมปรุงยาและอธิบายขั้นตอนการผลิตยาของรูปแบบยา ๒ ประเภท คือ รูปแบบยาเตรียมประเภทของเหลว ได้แก่ ยาต้ม ทั้งการต้มเดือด ต้มเคี่ยว และต้มสามเอาหนึ่ง และ รูปแบบยาเตรียมประเภทของแข็ง ได้แก่ ยาผง ยาแคปซูล ยาเม็ดแบบพิมพ์ด้วยมือ ยาเม็ดแบบใช้เครื่องตอกยาเม็ดหรือยาเม็ดตอกอัด และยาลูกกลอน (๔) อภิธานศัพท์ เป็นบัญชีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติมและทำความเข้าใจคำศัพท์ที่ใช้ได้ง่ายขึ้น (๕) สมุฏฐานของโรคและอาการ เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับสมุฏฐานการเกิดโรคและอาการ ชนิดของโรค อาการของแต่ละกลุ่ม ประเภทของยาสำหรับบำบัด เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ในการปรุงยาและใช้ยาให้เหมาะกับโรคหรืออาการของผู้ป่วย ซึ่งรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาตินี้มุ่งหมายเพื่อให้ความรู้แก่แพทย์แผนไทยและนักศึกษาแพทย์แผนไทยที่สนใจเกี่ยวกับที่มาของตำรับยาแผนไทย สามารถนำไปใช้ปรุงยา และจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย รวมทั้งนำไปใช้เป็นรายการยาในระบบบริการสุขภาพของประเทศ การประกอบวิชาชีพและการเรียนการสอนด้านการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย การผลิตยาแผนไทยในระดับอุตสาหกรรม และในสถานบริการสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ แผนไทย บุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยและสาธารณสุขต่อไป      

(จำนวนผู้เข้าชม 3743 ครั้ง)


Messenger