ขอฉาย /คันฉาย

         ขอฉาย / คันฉาย

         ขอฉายหรือคันฉาย เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวนา ใช้สำหรับสงฟางในขณะนวดข้าว  ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกแยกออกจากเศษฟาง   “สง” เป็นคำกริยา หมายถึงการหย่ง, ทำให้สิ่งที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนให้กระจายตัวหรือแยกออกจากกัน  ดังนั้น การสงฟางจึงหมายถึงการแยกหรือเกลี่ยหรือเขี่ยเศษฟางออกจากเมล็ดข้าว  ลักษณะเครื่องมือเครื่องใช้นี้ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและมีน้ำหนักเบา ด้ามยาวประมาณ 150-200 เซนติเมตร  ส่วนปลายมีแขนงที่มีลักษณะโค้งงอนคล้ายตะขอสำหรับเกี่ยวหญ้าหรือฟาง  ในบางท้องถิ่นขอฉายหรือคันฉายทำด้วยไม้จริง หรือบางทีมีตะขอเป็นเหล็ก

         ขอฉาย / คันฉาย เป็นคำประสมระหว่างภาษาไทยและภาษาเขมร  คำว่า “ขอ” คงมีที่มาจากคำว่า ตะขอ เป็นการสื่อให้เห็นรูปร่างเครื่องมือที่มีลักษณะโค้งงอ  คำว่า “คัน” เป็นลักษณะนามที่เป็นคำไทย แปลว่า ด้าม ส่วนคำว่า “ฉาย” เป็นภาษาเขมร แปลว่า สง หรือแยก กระจายออกจากกัน 

ขอฉายหรือคันฉายได้มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น กระดองฉาย (ดอง มาจากคำในภาษาเขมร แปลว่า ด้าม)  ดองฉาย  กระดองหาย ดองหาย ดองไห ไม้สงฟาง  ส่วนทางภาคอีสานเรียกกันว่า เก๊าะฉาย

 

อ้างอิง

- วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, 2532.

- ราชบัณฑิตยสภา. คันฉาย [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=คันฉาย-๒๔-ธันวาคม-๒๕๕๓ 

- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. ขอฉาย - ฐานข้อมูลพจนานุกรมภาษาโคราช [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. เข้าถึงได้จาก https://nm.sut.ac.th/korat_dic/?m=detail&vocab_id=468&search_type=

(จำนวนผู้เข้าชม 66 ครั้ง)