...

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โครงการ : จัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ๑๓ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

รายงานการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

๑. ชื่อโครงการ

โครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์

๒. หลักการและเหตุผล

เมืองพุทไธสงเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง  เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่มีแผนผังเมืองเป็นรูปวงรี ขนาดกว้างประมาณ ๑.๓ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๒.๑ กิโลเมตร มีคูเมืองกำแพงเมืองล้อมรอบ ๒ ชั้น ภายในเมืองประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัยซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่หลายเนิน และในปัจจุบันก็ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนอยู่ด้วย จากหลักฐานทางโบราณคดีพบวาบริเวณที่ตั้งของเมืองอาจมีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ และมีการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองพุทไธสงในสมัยรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๒ โดยมีพระเสนาสงครามเป็นเจ้าเมืองคนแรก ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางปกครองชุมชนในแถบตอนเหนือของจังหวัดบุรีรัมย์หรือบริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลาง มีความสัมพันธ์กับเมืองนครราชสีมาและเมืองบุรีรัมย์ตลอดมา เมื่อมีการปรับเปลี่ยนระบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ จึงได้รับการเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอหนี่งที่ขึ้นกับเมืองบุรีรัมย์

การเป็นศูนย์กลางการปกครองและมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องยาวนานแห่งหนึ่ง ชุมชนได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นเพื่อตอบสนองการดำรงชีวิตในด้านต่างๆ เช่น การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน การปกครอง การนับถือศาสนา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่อผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน ได้กลายมาเป็นโบราณสถานที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบทางกายภาพของเมืองโบราณ พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมความเจริญรุ่งเรื่อง ภูมิปัญญา และวิถีชิวิติของคนในอดีตที่เป็นรากเหง้าของการพัฒนาบ้านเมืองในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน การที่เมืองพุทไธสงมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของเมือง การใช้พื้นที่ การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูประการ ต่างๆ ที่ไม่มีการควบคุม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับโบราณสาน ทั้งในลักษณะของการบุรุกเปลี่ยนแปลงสภาพและลดทอนคุณค่าความสำคัญของเมืองโบราณลง

กรมศิลปากรในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ในการอนุรักษ์โบราณสถาน ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตโบราณสถานเมืองพุทไธสงแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และการควบคุมการใช้พื้นที่โบราณสถาน แต่การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์เมืองเท่านั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อได้แก่ การดำเนินงานทางวิชาการ การร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น การพัฒนาเชิงอนุรักษ์ในด้านต่างๆ เช่น การสร้างความเข้าใจกับท้องถิ่นเพื่อลดปัญหาการบุกรุกคูเมืองกำแพงเมือง การควบคุมและการกำหนดการใช้พื้นที่โบราณสถานอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาสภาพภูมิทัศน์ การร่วมมือกับท้องถิ่นเพื่อวางแผนพัฒนาร่วมกัน การสร้างเสริมวัฒนธรรมชุมชน เป็นต้น โดยจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพุทไธสงเพื่อใช้เป็นแผนหลักในการกำหนดแนวทางการศึกษา บริหารจัดการ และพัฒนาเชิงอนุรักษ์ต่อไป

๓. วัตถุประสงค์

                    ๓.๑ เพื่อสำรวจศึกษาข้อมูลต่างๆ ในบริเวณเมืองพุทไธสงและพื้นที่โดยรอบสำหรับใช้เป็นข้อมูลจัดทำแผนแม่บทฯ

                    ๓.๒ เพื่อจัดทำแผนแม่บทในการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานเมืองพุทไธสง ประกอบด้วยการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี การอนุรักษ์โบราณสถาน การใช้ที่ดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อม การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการพื้นที่ กำหนดพื้นที่ประกาศเขตโบราณสถาน รวมทั้งแผนการดำเนินงานและงบประมาณ

                    ๓.๓ เพื่อสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นทั้งในส่วนขององค์กร หน่วยงานภาครัฐบาล และประชาชนในพื้นที่โบราณสถานเมืองพุทไธสงและที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ คุณค่าความสำคัญของโบราณสถาน และวางแผนในการอนุรักษ์โบราณสถานร่วมกัน

๓. กำหนดเวลา

                    ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

๔. สถานที่

                    ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 ๕. หน่วยงานผู้จัด

                    สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

 ๖. หน่วยงานสนับสนุน

          -

 ๗. กิจกรรม               

วันจันทร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลา ๑๐.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ออกเดินทางจากสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา เข้าสู่จังหวัดหนองคาย

วันอังคารที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลา ๐๖.๐๐ - ๐๘.๐๐ น.  คณะศึกษาดูงานพร้อมกัน และรับประทานอาหารร่วมกัน ณ เรือนขวัญแก้วรีสอร์ท จังหวัดหนองคาย

เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. คณะศึกษาดูงานออกเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์โดยรถบัส ๔๕ ที่นั่ง        

เวลา ๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น.  รับประทานอาหารกลางวัน ร้านอาหารภูอ่างคำ

เวลา ๑๓.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ออกเดินทางต่อผ่านเมืองกาสี เขานมสาว ภูผาตั้ง ภูเพียงฟ้ากิ่วกระจำ เมืองหลวงพระบาง

เวลา ๒๐.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น ณ เมืองหลวงพระบาง และเข้าที่พัก ณ เฮือนพักภูสี

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลา ๐๗.๐๐ - ๐๘. ๐๐ น. รับประทานอาหารเช้า ณ เฮือนพักภูสี

เวลา ๐๘.๐๐ -  ๑๐.๐๐ น. เข้าชมพิพิธภัณฑ์พระราชวังเจ้าชีวิต

เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.  เข้ารับฟังบรรยายการอนุรักษ์เมืองมรดกโลกจาก UNESCO

เวลา ๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น.  รับประทานอาหารกลางวัน

เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๔.๐๐ น.  รับฟังการบรรยายการอนุรักษ์เมืองมรดกโลกจากท่านเจ้าเมือง

                                 หลวงพระบาง

เวลา ๑๔.๐๐ - ๑๕.๐๐ น.  ศึกษาดูงานในตัวเมืองหลวงพระบาง ชมบรรยากาศเมืองเก่า

                                  หมู่บ้านต่างๆ (บ้านชาวจีน บ้านชาวฝรั่งเศส สมัยลาวยังเป็น

                                  อาณานิคมของฝรั่งเศสยังคงอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกโลกของเมือง

                                  หลวงพระบาง)

เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.  เข้าชมวัดเชียงทอง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระแก้วมรกต

เวลา ๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. เที่ยวชมตลาดมืด

วันศุกร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลา ๐๕.๐๐ น.              ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวเพื่อเป็นสิริมงคล

เวลา ๐๗.๐๐ - ๐๘.๐๐ น.  ชมตลาดเช้า วิถีชีวิตการกินอยู่อย่างชาวหลวงพระบาง

เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๐.๐๐ น.  รับประทานอาหารเช้า

เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.  ออกเดินทางเข้าชมบ้านผานม ชมการทอผ้าของชาวบ้าน

เวลา ๑๒.๐๐ - ๑๔.๓๐ น.  รับประทานอาหารกลางวัน

เวลา ๑๔.๓๐ - ๑๗.๐๐ น.  ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และสรุปประเด็นการศึกษาดูงาน

เวลา ๑๗.๐๐ - ๒๐.๐๐ น.  รับประทานอาหารเย็นเดินชมตลาดมืด

วันเสาร์ที่  ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลา ๐๔.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.  เดินทางจากหลวงพระบางสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ข้ามสะพาน

                                 มิตรภาพไทย-ลาว เข้าที่พักจังหวัดหนองคาย 

วันอาทิตย์ที่ ๑๗  พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. เดินทางกลับสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา

 ๘. คณะผู้แทนไทย

                    หน่วยงานจากสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

                    ๑. นายสุพจน์ พรหมมาโนช                  ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา

                    ๒. นางกันยา แต้เจริญวิริยะกุล               หัวหน้าหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.๙                                                                                                  นครราชสีมา

                    ๓. นางชุติมา จันทร์เทศ                      หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

                    ๔. นายดุสิต ทุมมากรณ์                      หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

                    ๕. นางชูศรี เปรมสระน้อย                    หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

                    ๖. นางสาวเบญจพร สารพรม                หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์

                    ๗. นายรวินทร์ จิตสุทธิผล                    หัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน

                    ๘. นายสมเดช ลีลามโนธรรม                 หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี

                    ๙. นางสาวฑาริกา กรรมจันทร์              หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป

                    ๑๐. นายมนตรี ธนภัทรพรชัย                นักโบราณคดีชำนาญการ

                    ๑๑. นายประพันธ์ เนื่องมัจฉา                นายช่างสำรวจชำนาญงาน

                    ๑๒. นายชำนาญ กฤษณสุวรรณ             นายช่างโยธาชำนาญงาน

                    ๑๓. นายรัชฎ์ ศิริ                             นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน     

                    ๑๔. นายนภสินธุ์ บุญล้อม                    นักโบราณคดีปฏิบัติการ

                    ๑๕. นางสาวอรุณี เนียนไธสง                 เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน

         

                    หน่วยงานจังหวัดบุรีรัมย์

                    ๑. นายวัชรนนท์ มั่นใจ                       วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์

                    ๒. นายไสว วนัสบดีกุล                       ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

                    ๓. นางสาวยุวพร มั่งมี                        โยธาธิการและผังเมืองบุรีรัมย์

 

                    หน่วยงานและผู้แทนชุมชนพุทไธสง

                    ๑. นายวัชรินทร์ อุนาริณ                     ปลัดเทศบาลเมืองพุทไธสง

                    ๒. นางนิศานาถ จันทร์อาภาท               หัวหน้าสำนักปลัด

                    ๓. นายธีระศักดิ์ จริยากุลวงศ์                นักบริหารงานทั่วไป

                    ๔. นายบันลือ สมบูรณ์เรศ          ผู้แทนชุมชนพุทไธสง

                    ๕. นายอภิรัตน์ มากมน                      ผู้แทนชุมชนพุทไธสง

                    ๖. นางสาวมลิดา ชาติไธสง                   ผู้แทนชุมชนพุทไธสง

                    ๗. นางบุญสร้าง กล้าหาญ                    ผู้แทนชุมชนพุทไธสง

                    ๘. นางสาวปวีณา ยินดี                       ผู้แทนชุมชนพุทไธสง

 

                    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

                    ๑. นายกฤษณุ ผโลปกรณ์                    หัวหน้าโครงการฯ

                    ๒. นายวรวิทย์ จันทเดช                      อาจารย์

                    ๓. นายสกลชัย บุญปัญจา                    อาจารย์

                    ๔. นางสาววัชราภรณ์ เครือพันธ์             ผู้ช่วยวิจัย

                    ๕. นายอนุชา มาแสวง                        ผู้ช่วยวิจัย

 

๙. สรุปสาระของกิจกรรม

การศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณสถาน ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ในครั้งนี้ ทำให้คณะทำงานได้รับความรู้ใหม่ๆ เข้าใจและเห็นภาพวัฒนธรรมลาวหรือล้านช้างที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมล้านนาในภาคเหนือ และวัฒนธรรมอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จากรูปแบบของโบราณสถาน การใช้พื้นที่และการใช้งานที่ยังคงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน หลักในการอนุรักษ์โบราณสถานของลาว ยังคงรักษารูปแบบความเป็นของแท้ดั่งเดิม แต่มีการใช้วัสดุใหม่เข้ามาทดแทนบ้าง

นอกจากโบราณสถานประเภทวัดที่แสดงถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรล้านช้างแล้ว โบราณสถานประเภทที่อยู่อาศัยที่มีรูปแบบของตะวันตก ยังแสดงถึงประวัติศาสตร์อีกช่วงหนึ่งของประเทศลาว

เมืองหลวงพระบางได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ตามหลักเกณฑ์ ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๒ แสดงถึงความสำคัญในการแลกเปลี่ยนค่านิยมของมนุษย์ผ่านช่วงสมัย หรือภายในพื้นที่ของวัฒนธรรมในโลกผ่านสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลปะ ผังเมือง และภูมิทัศน์

ข้อ ๔ เป็นตัวอย่างที่แสดงออกถึงประเภทการก่อสร้าง หรือสถาปัตยกรรม หรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งประกอบเข้าด้วยกันอย่างเป็นองค์รวม

ข้อ ๕ เป็นตัวอย่างที่แสดงออกถึงประเพณีการตั้งหลักแหล่งของมนุษย์ชาติหรือการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหนึ่งวัฒนธรรมใดหรือหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้

นอกจากนี้คณะกรรมการมรดกโลกยังกล่าวไว้ว่า หลวงพระบางเป็นกรณีของความยั่งยืนแห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่ยังไม่ถูกทำลายในปัจจุบัน เป็นความสำเร็จของการหลอมรวมวัฒนธรรม ประเพณี สถาปัตยกรรม โครงสร้างของชุมชน และอิทธิพลของอาณานิคมยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ลักษณะเฉพาะของภูมิทัศน์ของเมืองหลวงพระบางบ่งบอกถึงการอนุรักษ์อย่างดีเยี่ยม แสดงออกถึงภาพวาดแห่งขั้นตอนสำคัญของการผสมผสานกันอย่างลงตัวของทั้งสองวัฒนธรรม

การกำหนดเขตในการอนุรักษ์เมืองหลวงพระบาง กำหนดไว้ดังนี้

๑. เขตที่อยู่ในการปกป้องรักษามรดกของตัวเมืองกับเขตปกปักษ์รักษามรดกทางธรรมชาติ

๒. เขตตัวเมือง ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ

- เขตลิ่มตัวเมือง-เขตตัวเมือง

- เขตริมน้ำ

- เขตเศรษฐกิจ

๓. เขตธรรมชาติ ประกอบด้วย ๒ ส่วนคือ

- เขตขยายตัวเมืองในอนาคต

- เขตเกษตรกรรม ป่าไม้ และแม่น้ำ

การศึกษาดูงานการอนุรักษ์ พัฒนา และบริหารจัดการเมืองโบราณที่เป็นมรดกโลกของรัฐบาลลาว ทำให้เห็นแนวความคิดที่ต้องการรักษาโบราณสถานเอาไว้ จึงมีการผลักดันเพื่อเสนอต่อองค์กรศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ฑ.ศ. ๒๕๓๘

รัฐบาลลาวได้แต่งตั้งคณะทำงานในระดับชาติและท้องถิ่น ในระยะแรกดำเนินการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องการอนุรักษ์ตามแนวทางของมรดกโลก โดยเน้นให้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่ใช้กฎหมายนำ เนื่องจากระยะดังกล่าวประชาชนยังไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์ และมีการปรับกฎเกณฑ์บางอย่างของสากลให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งให้ความสำคัญในการอยู่ร่วมกันระหว่างโบราณสถานกับคนในพื้นที่เพื่อความมีชีวิตของเมือง

การกำหนดเขตอนุรักษ์ที่แบ่งเป็นเขตอนุรักษ์หลัก (Core Zone) ซึ่งได้แก่พื้นที่เมือง และเขตพื้นที่รอง (Buffer Zone) กำหนดพื้นที่เมืองเก่า วัด และพื้นที่ธรรมชาติ กำหนดอาคารที่อยู่ในบัญชีที่ต้องอนุรักษ์ซึ่งมีจำนวนกว่า ๔๐๐ หลัง อนุรักษ์โดยยึดความเป็นของแท้ดั้งเดิม การควบคุมอาคารสิ่งก่อสร้างใหม่ เช่น การควบคุมรูปแบบ วัสดุ ให้มีความกลมกลืน และความสูงของอาคารที่ไม่เกินความสูง ๙-๑๒ เมตร โดยที่ประชาชนก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารหลังนั้นๆ การกำหนดไม่ให้รถยนต์ขนาดใหญ่เข้ามาวิ่งในเมือง เป็นผลดีต่อสภาพภูมิทัศน์ของโบราณสถานแต่ละแห่งและเป็นผลดีต่อเมืองในภาพรวมที่แสดงถึงความเป็นเมืองเก่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว ส่งผลให้เมืองหลวงพระบางเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก นักลงทุนชาวลาวและชาวต่างชาติเข่ามาเปิดธุรกิจการท่องเที่ยว เมื่อมีคนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบด้านต่างๆ ที่เห็นได้ชัด เช่น ระบบสาธารณูปโภค การจัดการน้ำเสียจากบ้านเรือน ถ้าไม่มีระบบควบคุมที่ดีย่อมส่งผลกระทบในระยะยาว วัฒนธรรมตะวันตกบางอย่างที่ไม่เหมาะสม การเกิดแหล่งท่องเที่ยวกลางคืน การมองพระพุทธรูปเป็นเพียงสิ่งของเครื่องประดับของชาวตะวัน เป็นต้น

การอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานประเภทเมืองโบราณ จะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบหลายๆด้าน ที่หลอมรวมกันขึ้นเป็นเมืองทั้งในเชิงกายภาพและวัฒนธรรม และในการศึกษาดูงานครั้งนี้แบ่งกิจกรรมออกเป็น ๒ กิจกรรม คือ

                   ๑ กิจกรรมการศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการ การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณสถาน ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประกอบด้วย

- พิพิธภัณฑ์พระราชวังเจ้าชีวิต หรือพระราชวังหลวงพระบาง  เป็นอาคารเก่า ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ลักษณะอาคารเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส แต่เป็นการผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสและลาว ด้านนอกอาคารเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ เป็นระยะเวลานานจนสิ้นพระชนม์ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชวังหลวงพระบางได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ พระราชวังหลวงพระบางแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ.๒๔๔๗) มีแผนผังเป็นรูปกากบาท และสร้างฐานซ้อนกันหลายชั้น หอพระด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ของลาว องค์พระสูง ๘๓ เซนติเมตร พระหัตถ์แสดงปางอภัยมุทรา หล่อขึ้นด้วยทองคำบริสุทธิ์เกือบทั้งองค์

- รับฟังการบรรยาย เรื่อง การอนุรักษ์เมืองมรดกโลกจากท่านบุญยัง พงพิชิต ตัวแทนจากองค์การยูเนสโก และเข้าพบท่านเจ้าเมืองหลวงพระบาง 

- เมืองหลวงพระบาง เป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสมัยเมื่อครั้งลาวยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่มีความสวยงาม และยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นมรดกโลกของเมืองหลวงพระบาง โดยเมืองหลวงพระบางมีศักยภาพในการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คน

- วัดเชียงทอง พระโพธิสารราชเจ้าทรงสร้างวัดเชียงทองขึ้นในปี ค.ศ.๑๕๖๐ (พ.ศ.๒๑๐๓) โดยวัดเชียงทองนี้สร้างขึ้นก่อนหน้าที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทร์ไม่นานนัก และยังได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของลาว รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบหลวงพระบางแท้ คือมีหลังคาแอ่นโค้งและลาดลงต่ำมากจนดูค่อนข้างเตี้ย

- วัดวิชุนราช เป็นวัดที่เก่าแก่ของเมืองหลวงพระบาง สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.๑๕๑๕ (พ.ศ.๒๐๕๘)    ในรัชสมัยพระเจ้าวิชุลราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง เอกลักษณ์ของวัดนี้เห็นได้จากประตูไม้ที่มีการแกะสลักอย่างสวยงาม และมีสถาปัตยกรรมแบบขอมที่ได้แบบมาจากปราสาทวัดภู แขวงจำปาศักดิ์ ในเขตลาวภาคใต้ ด้านในวัดมีพระพุทธรูปเก่าแก่ และศิลาจารึกรูปแบบต่างๆ มเหสีของพระเจ้าวิชุลราชได้ชักนำให้มีการสร้างพระธาตุขึ้น ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากพระธาตุอื่นๆ เนื่องจากมีรูปทรงกลมตัดครึ่ง มองเหมือนแตงโมจึงเรียกว่าพระธาตุหมากโม (ธาตุปะทุม) ต่อมา ค.ศ.๑๙๔๒ (พ.ศ.๒๔๘๕) วัดนี้จึงได้เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บรักษาพระพุทธรูปและวัตถุโบราณจำนวนมาก

- พระธาตุพูสี ตั้งบนยอดเขาพูสีที่มีความสูงราว ๑๕๐ เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง

มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตรงข้ามพระราชวัง ๓๒๘ ขั้น สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท ประมาณปี   ค.ศ.๑๗๙๔ (พ.ศ.๒๓๓๙) ซึ่งการได้เดินขึ้นไปบนยอดพูสีทำให้เห็นเมืองหลวงพระบางได้โดยรอบ

- หมู่บ้านผานม เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองสิบสองปันนา มีประชากรประมาณ ๒๕๐ ครอบครัว ผู้หญิงชาวไทลื้อชำนาญในการทอผ้า ในอดีตบ้านผานมเป็นแหล่งทอผ้าถวายเจ้ามหาชีวิตและราชสำนัก ในปัจจุบันบ้านผานมได้รักการยกระดับจากทางการให้เป็น “หมู่บ้านวัฒนธรรม” ผ้าทอมือจากบ้านผานมเป็นผ้าทอที่มีชื่อเสียงมาก มีการรวมกลุ่มตั้งเป็นศูนย์หัตถกรรมแสดงสินค้า มีการสาธิตการทอผ้าด้วยกี่กระตุกแบบดั้งเดิม และยังมีผ้าทอรูปแบบต่างๆ จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ผ้าทอบ้านผานมมีทั้งผ้าแพรเบี่ยงลวดลายแบบลื้อแท้ๆ และผ้าที่ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมเตียง ผ้ารองแก้วรองจาน ฯลฯ

 

                   ๒ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ และสรุปประเด็นการศึกษาดูงาน โดยมีประเด็นในการเสวนาดังนี้

- การสร้างสถานการณ์สมมติและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการจัดการกับปัญหาระหว่างกลุ่มสมมติต่างๆ เพื่อให้ได้ทางออกหรือข้อสรุปที่เหมาะสมต่อทุกฝ่าย 

- เสนอแนวความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสีย ที่ได้รับจากการศึกษาดูงานเมืองมรดกโลกหลวงพระบางในแง่ของการบริหารจัดการ

 

๑๐. ข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรม

                    ๑๐.๑ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเมืองได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี ค.ศ.๑๙๙๕ และได้มีการบริหารจัดการมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมต่างๆ ร่วมกับองค์การยูเนสโก โดยได้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและภูมิทัศน์ ที่มีกฎข้อบังคับและแผนการจัดการพื้นที่อย่างชัดเจน ดังนี้

- มีการแบ่งพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่ชุมชนและที่อยู่อาศัย พื้นที่ธรรมชาติ พื้นที่ Buffer Zone

- ออกแบบและตกแต่งสถานที่ต่างๆ มีความกลมกลืนกับอาคารแบบเดิม

- อนุรักษ์อาคารเก่าให้มีสภาพดีดังเดิม

- จำกัดความสูงของอาคารและโรงแรม  

- จำกัดขนาดของรถยนต์ที่จะเข้าไปชมในเมืองหลวงพระบาง โดยห้ามรถขนาดใหญ่เข้ามาภายในตัวเมืองโดยเด็ดขาด

- มีการขยายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น การคมนาคม การสื่อสาร การจัดการน้ำ ฯลฯ    เพื่อรองรับกับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภายในเมืองหลวงพระบาง

- อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมประเพณี พิธีกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีฮีต ๑๒ ประเพณีขึ้นปีใหม่

                   ๑๐.๒ ในขณะที่เมืองหลวงพระบางได้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาเยี่ยมเยียนนั้น     ก็มิใช่ว่าจะมีผลดีแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังได้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองหลวงพระบางขึ้นมาด้วยเช่นกัน ดังนี้

- มีสถานบันเทิงในเวลากลางคืนเกิดขึ้นมากมาย  

- มีการลักลอบค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

- ชาวต่างชาติไม่เคารพสถานที่หรือทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ที่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีของชาวหลวงพระบาง เช่น การถอดเสื้อในที่สาธารณะ การนุ่งกางเกงหรือกระโปรงสั้นเข้าไปในศาสนสถาน

- การนำรูปแบบสถาปัตยกรรมทางศาสนาไปดัดแปลงเป็นอาคารหรือโรงแรม หรือการนำพระพุทธรูปไปประดับภายในห้องหรือทางเดินในโรงแรม

- การที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเมืองหลวงพระบางทำให้เกิดมลพิษมากขึ้น เช่น ปัญหาขยะน้ำเสีย มลพิษทางเสียง มลพิษทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้จำเป็นต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการต่อไป

                    ๑๐.๓ บุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรมจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ในการสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราวให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น กรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเผยแพร่และอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ควรส่งเสริมให้บุคลากรสามารถใช้ภาษาอื่นๆ ในการสื่อสาร อาทิเช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ ให้แก่แขกของทางราชการหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้

         

                                                 สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา  ผู้สรุปผลการเดินทางไปราชการ

(จำนวนผู้เข้าชม 593 ครั้ง)