อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง พระนครศรีอยุธยา
จำนวนผู้เข้าชม 2487


       อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นหน่วยงานที่ดูแลรักษาโบราณสถานในพื้นที่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของอดีตราชธานีอันยิ่งใหญ่ คือ กรุงศรีอยุธยา ประกอบไปด้วยพื้นที่เกาะเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเกาะเมือง อันประกอบไปด้วยโบราณสถานประเภทพระราชวัง ศาสนสถาน สะพานโบราณ ย่านการค้าโบราณ รวมทั้งร่องรอยชุมชนชาวต่างชาติ โดยมีโบราณสถานไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง
       กรุงศรีอยุธยาเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จากหลักฐานระบุว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาใน พุทธศักราช 1893 ต่อมาอาณาจักรอยุธยาได้ขยายดินแดนออกไปตามลุ่มแม่น้ำต่างๆรวมทั้งดินแดนชายฝั่งทะเลทางทิศใต้ มีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 34 พระองค์ จนกระทั้งสิ้นสุดลงจากการรุกรานโดยอาณาจักรข้างเคียงในปี พุทธศักราช 2310 ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงเปลี่ยนศูนย์กลางเมืองใหม่ไปอยู่ที่กรุงธนบุรี ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีอายุยืนยาวถึง 417 ปี จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ
       ให้สงวนที่ดินภายในเกาะเมืองให้เป็นสาธารณะสมบัติ และทรงโปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ดำเนินการขุดแต่งพื้นที่พระราชวังโบราณ ถือเป็นการเริ่มต้นการอนุรักษ์พื้นที่พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรเริ่มเข้ามาสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานสำคัญของอยุธยาตั้งแต่ พุทธศักราช 2478 จนถึง พุทธศักราช 2499 จึงเริ่มบูรณะโบราณสถานสำคัญ เช่น วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีการจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในปี พุทธศักราช 2525 เพื่อดูแลรักษาพื้นที่โบราณสถานพระนครศรีอยุธยาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
       จนกระทั่ง วันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2434 พื้นที่โบราณสถานสำคัญของอยุธยา ได้ถูกประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกในชื่อ “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)
       ปัจจุบัน พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองอยุธยา ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษาพื้นที่