บัวยอดปราสาท
จำนวนผู้เข้าชม 2692

          บัวยอดปราสาทเป็นส่วนประดับยอดของปราสาทในศิลปะเขมร มีลักษณะกลมแป้นเป็นลอนโดยรอบ บัวยอดปราสาทมีหน้าที่รองรับชิ้นส่วนคล้ายหม้อน้ำด้านบนสุดซึ่งเรียกว่า “กลศ”(กะ-ละ-สะ)
          สำหรับการสร้างบัวยอดเทวสถานได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากอินเดียโบราณเรียกว่า “อมลกะ” (อะ-มะ-ละ-กะ) ซึ่งมาจากคำว่า “อมลกิ” ในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า “ลูกมะขามป้อม” 
          สำหรับบัวยอดปราสาทในสถาปัตยกรรมอินเดียสันนิษฐานว่าเริ่มปรากฏครั้งแรกบนยอดเสาอโศกมหาราชในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อเข้าสู่สมัยคุปตะ(พุทธศตวรรษที่๙ - ๑๐ )บัวยอดปราสาทจึงพัฒนารูปแบบเพื่อประดับบนยอดศิขร (สิ-ขะ-ระ) หรือส่วนเรือนยอดอาคาร และรองรับหม้อน้ำกลศด้านบนอย่างแพร่หลาย โดยในคติความเชื่อของฮินดูอมลกะเป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดอันบริสุทธิ์และความเป็นอมตะ
          สำหรับบัวยอดปราสาทของปราสาทสด๊กก๊อกธมพบทั้งหมดสองชิ้นได้แก่
          - บัวยอดปราสาทชิ้นที่ ๑ ทำด้วยหินทราย ด้านบนรองรับกลศซึ่งมีการเจาะรูสี่เหลี่ยมขนาด ๒๐x๒๐ เซนติเมตร เพื่อติดตั้งตรีศูล/นพศูล ปัจจุบันอยู่บนยอดปราสาทประธาน
          - บัวยอดปราสาทชิ้นที่ ๒ ทำจากหินทราย สลักตกแต่งเป็นรูปกลีบดอกบัวด้านบนรองรับกลศ สันนิษฐานว่าในอดีตประดับบนยอดของซุ้มประตูโคปุระด้านตะวันออก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในอาคารศูนย์บริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม












--------------------------------------------------------
อ้างอิง
- อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (๒๕๖๒). ทิพนิยายจากปราสาทหิน. นนทบุรี: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ : หน้า ๔๕.
- กรมศิลปากร.สำนักโบราณคดี. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร : หน้า ๕๕๑.
- วสุ โปษยะนันทน์, อนัสติโลซิสเพื่อการบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน้า ๔๑-๔๒,๔๕,๖๔,๘๓
- Amalaka. Accessed May 25. Available from https://en.wikipedia.org/wiki/Amalaka
 
---------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม
https://www.facebook.com/Sadokkokthom.hp/posts/pfbid0KCgthRTKqq1sLxziKaZVsQuHptuAusP68xiAzFKX1wZtn5PKRs1r3kXALsgoweNel