ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย
จำนวนผู้เข้าชม 3510


   


      หนังสือ “ทรัพยศาสตร์” เขียนโดยมหาอํามาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของประเทศไทย ตำราเศรษฐศาตร์สมัยใหม่เล่มแรกของประเทศ ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นการนำเสนอแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค พ.ศ. 2405 - 2479) ซึ่งเป็นบุตรของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) สมุหกลาโหมฝ่ายเหนือกับหม่อมศิลา เมื่อแรกรับราชการมีตำแหน่งเป็นมหาดเล็กวิเศษ (เวรฤทธิ์) ภายหลังได้เลื่อนขั้นตำแหน่งตามโอกาส เป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกพระยาสุริยานุวัตรได้มารับเสด็จที่เมืองเวนิสประเทศอิตาลี จากพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระยาสุริยานุวัตร เห็นได้ว่าในขณะนั้นเป็นผู้ใกล้ชิดที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระองค์ และทรงมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลการศึกษาของพระราชโอรสที่กำลังศึกษาอยู่ในยุโรป  พ.ศ. 2449 พระยาสุริยานุวัตรได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระกระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2449 - 2450  ทั้งนี้บ้านสุริยานุวัตร เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อตอบแทนคุณความดี ในการปฏิบัติราชการด้วยความสามารถ ความเพียร และซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอดของ "พระยาสุริยานุวัตร” ออกแบบก่อสร้างโดยนายมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ก่อสร้างขึ้นในราวปี 2448 ที่ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งนี้อาคารดังกล่าวเป็นที่ทำงานถาวรหลังแรกของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หน่วยงานด้านการวางแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 
          หนังสือทรัพยศาสตร์ เป็นการนําเสนอแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เขียนโดยคนไทย ในปี พ.ศ. 2454 ประกอบด้วยหนังสือ ๓ เล่ม ได้แก่ ทรัพยศาสตร์ ชั้นต้น หรือ เล่ม 1 และ เล่ม 2  ส่วนเล่ม 3 ใช้ชื่อหนังสือ เศรษฐกิจ-การเมือง หรือเศรษฐวิทยา จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2477 หนังสือดังกล่าวสะท้อนภาพโครงสร้างและปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผู้เขียนมุ่งหวังจะเห็นประเทศไทยพัฒนาไปสู่ความมั่นคั่ง เข้มแข็ง เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองและมีความเป็นธรรมในสังคม พร้อมทั้งนำเสนอแนวความคิดที่ก้าวหน้าจนแทบไม่มีใครในยุคนั้นตามทัน 
          ความสำคัญของหนังสือทรัพยศาสตร์อยู่ที่การวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชี้สภาพความยากจนของชาวนาไทยและอธิบายถึงความยากจนอันเกิดจากการถูกขูดรีด การเอารัดเอาเปรียบของระบบนายทุน ทั้งนี้เป็นผลจากที่ดินและทุน นับว่าเป็นหนังสือเศรษฐกิจการเมืองไทยเล่มแรกที่วิเคราะห์และวิจารณ์ระบบศักดินา เสริมด้วยเรื่องนายทุนของประเทศไทยพร้อมกับวิจารณ์ระบบที่เป็นมา พระยาสุริยานุวัตรเสนอให้เปลี่ยนโครงสร้างระบบกรรมสิทธิ์ของไทยใหม่ กระจายกรรมสิทธิ์ในเรื่องของการผลิตก่อน และสมาชิกนำปัจจัยมารวมกันในขบวนการผลิตในรูปแบบสหกรณ์ โดยยึดหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแทนการแข่งขันและการขูดรีด
          เมื่อพิจารณาความรู้จาก “ทรัพยศาสตร์” จะทำให้ผู้อ่านเห็นถึงโครงสร้างกรรมสิทธิ์ และการผลิตของเศรษฐกิจไทยในอดีต สภาพความยากจนของชาวนาไทย ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้เปิดเผยความจริงของชีวิตภายใต้ระบบศักดินา การมีระบบชนชั้น ซึ่งถือได้ว่าการอ่านทรัพยศาสตร์คือการรับรู้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเมื่อครั้ง 63 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วไม่ต่างกับปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน
 
------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.  ทรัพยศาสตร์ ชั้นต้น เล่ม 1 - ๒.  กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ 21 เซ็นจูรี,  2565.
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.  เศรษฐกิจ-การเมือง หรือ เศรษฐวิทยา เล่ม 3.  กรุงเทพฯ:  โรงพิมพ์ 21 เซ็นจูรี,  2565.
“บ้านสุริยานุวัตร” จากบ้านของนักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรก สู่อาคารสำนักงานของสภาพัฒน์.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ ๑๖ พฤษภาคม 2565, จาก: ttps://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=7028&filename=index 
-------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลโดย : อรวรรณ เพ็งฉิม บรรณารักษ์ชำนาญการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ