ยาม: เรื่องราวของคนเล็ก ๆ
จำนวนผู้เข้าชม 707


          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2544 นิยามความหมายของยาม นอกจากแปลว่า ช่วงเวลาแห่งวันแล้ว ยังมีความหมายว่า “คนเฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์ตามกำหนดเวลา เช่น แขกยาม ไทยยาม คนยาม”
 
  จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูล พบเอกสารที่แสดงถึงคุณความดีของคนยามหอพระสมุด ได้กล่าวไว้ ดังนี้
 
  “ว่าด้วยแขกแชเบอร์ โจวทุรี รับราชการรักษายามที่หอพระสมุดแห่งพระนคร ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2463 เป็นเวลาสามปีหกเดือน รักษาหน้าที่เรียบร้อยตลอด  มีความชอบพิเศษ 3 ครั้ง จับได้คนร้ายพยายามลักทรัพย์  สภานายกหอพระสมุดฯ ประทานรางวัล 1 ครั้ง ส่วนอีก 2 ครั้งไม่ได้ให้ จึงระบุความดีไว้ในหนังสือนี้ด้วย และลาจากหน้าที่รักษายามหอพระสมุด เพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองบิดร จึงได้ทำหนังสือแสดงคุณความดี ฉบับนี้ไว้เป็นสำคัญ” ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2466”
 
   ช่วงเวลานั้นแขกมาเป็นนายยามที่หอพระสมุดฯในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่เสมอ เช่น ในปีพ.ศ. 2460 มีคนยาม 3 คน ได้แก่ แขกสรัส (ชาติฮินดู แผลต้นนิ้วชี้ซ้าย) , แขกเชอดิเซ็ง (ชาติฮินดู  แผลที่จมูกข้างขวา) และแขกพรหมหลัด(ชาติฮินดู แผลหลังมือซ้าย) ทั้งสามได้เงินเดือนเดือนละ 24 บาท แต่ไม่พบข้อมูลของแขกโจวทุรี ในเอกสารอื่น ทราบแต่ว่าได้รับเงินเดือนเดือนละ 25 บาท จากเอกสารปี พ.ศ. 2464 มีนายยาม 1 คน คือ แขกเซอร์ดิเซง และ คนยาม 2 คน คือ แขกแชเบอร์โจวทุรี (ในต้นฉบับสะกด โจวุดรี) และแขกงังเงอบีซน ระบุได้เงินเดือนปีละ 300 บาท เฉลี่ยเดือนละ 25 บาท
 
   แม้ว่าจะไม่ได้ทราบประวัติหรือรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับแขกโจวทุรี แต่ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญที่ตนทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดด้วยความสุจริต นั่นคือเกียรติของตนเอง และทำให้ได้ตระหนักว่า ความดีไม่มีวันสูญหาย เอกสารยังปรากฏคุณความดีจนถึงทุกวันนี้ร่วมศตวรรษ ความดีจะเป็นนิรันดร์ 
-----------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
ศธ 0701.6/220 ตัวอย่างแสดงคุณความดีของคนยามหอพระสมุดฯ
ศธ 0701.6/189 ค่าใช้สอยต่างๆ พ.ศ.2464
ศธ 0701.6/107 ขอรับยกเว้นเงินค่าราชการ พ.ศ. 2460
-----------------------------------------------------------
 
เรียบเรียงข้อมูลโดย :  นายบารมี สมาธิปัญญา นักวิชาการเผยแพร่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ