เรื่องราวของโค
จำนวนผู้เข้าชม 3139

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : เรื่องราวของ “โค” ที่ปราสาทพนมรุ้ง
          ในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู โค หรือ วัว นับว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากมีโคนนทิเป็นเทพพาหนะของพระศิวะเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ดังนั้นที่ปราสาทพนมรุ้งซึ่งเป็นเทวลัยที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ จึงพบประติมากรรม และภาพสลักเกี่ยวกับ โค หรือ วัว สอดแทรกอยู่ตามจุดต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของเทวลัยอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ 
          ภาพเกี่ยวกับโคที่เด่นชัดที่สุดของปราสาทพนมรุ้งจุดแรก คือ ประติมากรรมโคนนทิ ซึ่งถูกพบระหว่างการบูรณะปราสาทพนมรุ้ง ประติมากรรมดังกล่าวถูกสลักจากหินทราย เป็นรูปโคนั่งหมอบอยู่บนฐานเตี้ย ขนาดกว้าง ๘๒ เซนติเมตร ยาว ๑๑๒ เซนติเมตร และสูง ๗๒ เซนติเมตร นั่งหมอบพับขาทั้ง ๔ ข้างไปทางด้านขวา บนหลังมีโหนกนูนขึ้นมา แต่ส่วนหัวหักหายไป ก่อนจะมีการซ่อมขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ภายหลัง ปัจจุบันประติมากรรมโคนนทิของปราสาทพนมรุ้งเก็บรักษาและจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย และได้มีการจำลองไว้ที่ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ภายในมณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน และหันหน้าไปยังศิวลึงค์ที่เป็นประธานของเทวาลัย หรือก็คือสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูนั่นเอง
          ทั้งนี้บริเวณหน้าบันด้านทิศใต้ของมณฑปปราสาทประธานปรากฏภาพสลัก อุมามเหศวร เป็นภาพสลักของพระศิวะและพระอุมา (พระชายา) ประทับร่วมกันบนหลังโคนนทิ การปรากฏคู่กันของทั้ง ๒ พระองค์มีความหมายถึง การประทานความสุข ความอุดมสมบูรณ์ การสร้างและก่อเกิดสรรพชีวิตต่างๆ บนโลก ปัจจุบันภาพสลักดังกล่าวอยู่สภาพชำรุด แต่ยังสามารถมองเห็นภาพ โคนนทิ ซึ่งประดับเครื่องทรงงดงาม และแวดล้อมด้วยบริวารถือเครื่องสูงได้อย่างชัดเจน
          ภาพสลักเกี่ยวกับโคที่ปราสาทพนมรุ้งภาพสุดท้ายเป็นภาพ โยคีรีดนมวัว ปรากฏอยู่บริเวณหน้าบันชั้นลดมุขด้านทิศเหนือของปราสาทประธาน เป็นภาพแสดงเหตุการณ์ โยคีกำลังจับโคไว้เพื่อไม่ให้ดิ้น ส่วนโยคีอีกตนกำลังรีดนมวัวอยู่ ด้านบนจะเห็นโยคีอีกตนกำลังห้อยโหนบนต้นไม้ และยังปรากฏสุนัขตัวหนึ่งกำลังทำท่ากระโจนหาวัวในภาพอีกด้วย
          เป็นที่น่าสนใจว่าวัวที่เปรียบเสมือนเทพพาหนะของพระศิวะ ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู นอกจากได้รับการบูชาสักการะแล้ว ยังถือเป็นสัตว์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของทั้งโยคีที่บำเพ็ญตน และผู้คนในสมัยโบราณเป็นอย่างมาก หากนักท่องเที่ยวท่านใดมีโอกาสได้มาเยี่ยมชมปราสาทพนมรุ้ง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ อย่าลืมสังเกตประติมากรรมหรือภาพสลักต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้การท่องเที่ยวมีอรรถรส และเพิ่มความสนุกเพลิดเพลินในการชมโบราณสถานแห่งนี้ได้มากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย นายพงศธร ดาวกระจาย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง:
กมลวรรณ นิธินันทน์. ภาพสลักโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง. นครราชสีมา: กรมศิลปากร, ๒๕๖๓.
พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
สมบูรณ์ บุณยเวทย์. “บันทึกประสบการณ์ครั้งเริ่มบูรณะปราสาทหินพิมายและปราสาทหินพนมรุ้ง.” ศิลปากร. ๔๑, ๕ (กันยายน-ตุลาคม, ๒๕๔๑): ๖๘-๙๑.