กกุธภัณฑ์
จำนวนผู้เข้าชม 5435

         กกุธภัณฑ์หรือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามรูปศัพท์แปลว่า เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ แต่มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่ง ความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย ฉัตรมงกุฎ พระแสงขรรค์ ธารพระกร วาลวิชนีและฉลองพระบาท การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นประเพณี
          สืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ ที่มีพราหมณ์ (พระมหาราชครู) เป็นผู้กล่าว คำถวายตามคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพทั้งสิ้น ดังที่กล่าวใว้ใน
          ปัญจราชาภิเษกความว่า
          - เศวตฉัตร 6 ชั้น หมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น - พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์ - พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน - เครื่องประดับผ้ารัดกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์ ประดับเขาพระสุเมรุราช (ต่อมาใช้วาลวิชนีแทน) - เกือกแก้ว (ฉลองพระบาท) หมายถึงแผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ ราชและเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบ ขัณฑสีมา
          ไทยรับคติความเชื่อนี้มาจากเขมรซึ่งรับทอดมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง ประเพณีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย มีปรากฏมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระมหาราชครูถวายใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลอง พระบาทเชิงงอน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้
          พระมหาเศวตฉัตรหรือพระนพปฏล มหาเศวตฉัตร เป็นฉัตร 9 ชั้น เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ แต่เดิมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ของไทยบางรัชกาลมิได้กล่าวรวมพระมหาเศวตฉัตรเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ด้วย เพราะฉัตรเป็นของใหญ่โตมีปักอยู่แล้วเหนือ พระที่นั่งภัทรบิฐ จึงถวายธารพระกรแทน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นราชศิราภรณ์ที่สำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
          พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นพระแสงราชศัสตราประจำพระองค์พระ มหากษัตริย์ พระแสงขรรค์ชัยศรีเป็นพระแสงราชศัสตราที่สำคัญที่สุดใน พระราชพิธีสำคัญหลายพิธี เช่นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธี ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
          ธารพระกร ของเดิมทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งทำด้วยทองคำ ครั้นต่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเอาธารพระกรไม้ชัยพฤกษ์ออกมาใช้อีก จึงคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์อยู่ต่อมา
          วาลวิชนี (พัดและแส้) พัดวาลวิชนีทำด้วยใบตาลแต่ปิดทองทั้ง 2 ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยาส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรีด้ามเป็นแก้ว “วาลวิชนี” เป็นภาษาบาลีแปลว่าเครื่องโบก
          ฉลองพระบาทเชิงงอน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ










----------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายเศรษฐเนตร มั่นใจจริง นักวิชาการวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา