Les Etablissements Daydẻ Compagnie บริษัทก่อสร้างสัญชาติฝรั่งเศส กับงานก่อสร้างที่กลายเป็นประวัติศาสตร์
จำนวนผู้เข้าชม 790

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ ประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัท เลส์ เอตาบลิสมองต์ ไดเดย์ (Les Etablissements Daydẻ Compagnie) ประเทศฝรั่งเศสดำเนินการก่อสร้างสะพานพระราม ๖ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศ
          ย้อนไปใน พ.ศ.๒๔๒๓ หลุยส์ เลอบรุน (Louis Lebrun) พร้อมด้วยอองรี ไดเดย์(Henri Daydẻ) และออกุสต์ ปิเล่ (Auguste Pillẻ) ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อเลอบรุน ปิเล่ เอต์ ไดเดย์ (Lebrun, Pillẻ et Daydẻ Compagnie) รับจ้างดำเนินการก่อสร้างเกี่ยวกับโครงสร้างเหล็ก - โลหะ และเครื่องกำเนิดไอน้ำในงานอุตสาหกรรม หลังจากนั้นใน พ.ศ.๒๔๒๕ จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นไดเดย์ เอต์ ปิเล่ (Daydẻ et Pillẻ Compagnie)
          และใน พ.ศ.๒๔๔๓ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ว่าจ้างบริษัทดำเนินการก่อสร้างกรองด์ ปาเลส์ (Grand Palais) ซึ่งมีโครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก งานโลหะและกระจก เพื่อใช้เป็นอาคารจัดนิทรรศการความก้าวหน้า ทางวิทยาการจากนานาชาติ ในบริเวณจัตุรัสชองป์ส เอลิเซ (Champs Ẻlysẻes) กรุงปารีส ซึ่งถือเป็นงานก่อสร้างที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในขณะนั้น รวมทั้งยังเป็นบริษัทที่ทำการก่อสร้างสะพานด้วยโครงสร้างเหล็กหลายแห่งในฝรั่งเศส อัลจิเรีย รวมถึงสะพานสองเบียน (Long Bien) ประเทศเวียดนาม
          เฉพาะสะพานสองเบียน ในประเทศเวียดนามนั้น เป็นสะพานสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๔๕ นับเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแดง หรือแม่น้ำห่ง (Hoan) เชื่อมเมืองฮานอย(Hanoi) กับเมืองท่าไฮฟอง(Haiphong) ยาว ๒.๔ กิโลเมตร: ถือเป็นสะพานที่ใหญ่ที่สุดในอินโตจีน ซึ่งในขณะนั้นฝรั่งเศสปกครองอินโดจีน โดยมีผู้สำเร็จราชการดูแล คือ โปล ดูแมร์(Paul Doumer)
          ลักษณะสะพานดังกล่าวเป็นสะพานรถไฟมีถนนสำหรับยานพาหนะและผู้คนใช้สัญจร ภายหลังใน พ.ศ.๒๕๑๐ สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดทำลายสะพานแห่งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้การสนับสนุนในการซ่อมแซมสะพานโดยคงรูปแบบเดิมของสะพานแห่งนี้ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเห็นชอบในการบูรณะสะพานด้วยเหตุผล ว่า “สะพานนี้ถูกก่อสร้างเพื่อการใช้ประโยชน์จากประเทศเมืองขึ้นของฝรั่งเศส แต่ก็ช่วยขยายการคมนาคมให้แก่ คนเวียดนามและเราต้องอนุรักษ์ไว้ นับเป็นกิจการคมนาคมสำคัญที่ส่งผลดีต่อการขนส่งสินค้าเป็นกิจการทางประวัติศาสตร์ที่มีความหมายทางวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ในปี ค.ศ.๑๙๕๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘) ทหารฝรั่งเศสถอนออกจากเวียดนามกลับประเทศต้องผ่านสะพานแห่งนี้เพื่อเดินทางไปยังท่าเรือ ไฮฟองลงเรือกลับประเทศ” ลักษณะสถาปัตยกรรมสะพานดังกล่าวยังปรากฏในงานก่อสร้างสะพานพระราม ๖ ในประเทศไทย เมื่อบริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเลส์ เอตาบลิสมองต์ ไดเดย์ (Les Etablissements Daydẻ Compagnie) (Daydẻ Compagnie) ใน พ.ศ..๒๔๔๖
          ใน พ.ศ.๒๕๐๗ บริษัท เลส์ เอตาบลิสมองต์ ไดเดย์ (Les Etablissements Daydẻ Compagnie) (Daydẻ Compagnie) ได้รวมเข้าเป็นบริษัท ฟรองเซส์ ดองเทรอร์ปรีส์ (Compagnie Française d’Entreprises – CFEM) เป็นบริษัทที่ทำหน้าทีในการดูแลโครงสร้างโลหะของหอไอเฟล (Eiffel Tower) ประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน
   
(ซ้าย – ขวา) การก่อสร้างอาคารกรองด์ ปาเลส์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓

   
(ซ้าย) กรองด์ ปาเลส์ ในปัจจุบัน
(ขวา) โครงสร้างโลหะและกระจกส่วนหลังคากรองด์ ปาเลส์ ที่ขึ้นชื่อในความก้าวหน้าของงานก่อสร้างในฝรั่งเศส

   


(บน – ซ้าย) สะพานสองเบียน ประเทศเวียดนาม
(บน – ขวา) สะพานลองเบียนในอดีต
(ล่าง) ภาพลายเส้นแบบโครงสร้างสะพานลองเบียน ประเทศเวียดนาม

   
(ซ้าย) ป้ายชื่อบริษัท Daydẻ et Pillẻ ที่สะพานลองเบียน
(ขวา) ด้านข้างสะพานลองเบียนใช้เป็นเส้นทางสำหรับพาหนะสัญจร



สภาพความเสียหายสะพานลองเบียนเมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดทำลาย เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐



(ซ้าย) ป้ายโลหะที่หน้าทางขึ้นสะพานพระราม ๖ (ซึ่งทำขึ้นเมื่อมีการบูรณะสะพานในสมัยหลัง) ระบุชื่อบริษัท Les Etablissements Daydẻ แห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้สร้างสะพาน


(ขวา) รายละเอียดข้อความชื่อบริษัท Les Etablissements Daydẻ แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่ปรากฏบนแผ่นป้าย

-------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวเมธินี จิระวัฒนา นักโบราณคดีชำนาญการ กองโบราณคดี
-------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
Ky Lan. สะพานลองเบียนจากข้อมูลของฝรั่งเศสที่ยังหลงเหลือ (เผยแพร่ทางสถานีวิทยุเวียดนาม – ส่วนกระจาย เสียงต่างประเทศแห่งชาติ วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗) สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔. https://fr.wikipedia.org/wiki/Daydẻ ) สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔. https://www,gracesguide.co.uki/Dayde_and_Pille สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔.