วันดำรงราชานุภาพ
จำนวนผู้เข้าชม 1991

. เนื่องในวันที่ ๑ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ มาฝากแฟนเพจทุกท่านค่ะ
/// พระราชประวัติ ///
. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม โดยมีพระอิสริยยศคือ "พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร"
/// ทรงเริ่มสนพระทัยในงานโบราณคดี ///
. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับวิชาการโบราณคดีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเริ่มศึกษาโบราณคดีและเริ่มสนพระทัยในเรื่องเครื่องรางของขลังตั้งแต่ทรงผนวชเป็นสามเณร พระภารกิจทางโบราณคดีที่ทรงทำอย่างแท้จริงนั้น อยู่ในช่วงที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๕๘ ซึ่งต้องเสด็จทอดพระเนตรออกตรวจราชการตามหัวเมืองต่างๆ อยู่เป็นประจำ ทำให้พระองค์ได้พบเห็นเมืองโบราณ และโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ถูกทิ้งร้างซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยพระทัยรัก ในงานโบราณคดี พระองค์จึงทรงบันทึกเรื่องราวต่างๆที่ได้พบเห็นไว้ แล้วนำมาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม
/// การจัดการด้านพิพิธภัณฑ์ ///
. จากที่กล่าวมาว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จออกตรวจราชการ ทรงพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่เป็นหลักฐานที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ถูกทิ้งอยู่ตามเมืองโบราณต่างๆ ทรงเก็บรวบรวมโบราณวัตถุเหล่านั้นมาเก็บรักษาไว้ โดยในขั้นแรกทรงให้เก็บรักษาไว้ ณ กระทรวงมหาดไทยก่อน และเมื่อทรงดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภาก็ได้นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานวังหน้า (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในปัจจุบัน) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานวังหน้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ อีกทั้งยังประทานของส่วนพระองค์ให้ไปจัดแสดงด้วย ในการจัดแสดง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ควบคุมการจัดด้วยพระองค์เองโดยตลอด เมื่อทรงจัดแล้ว ก็ทรงฝึกคนให้มีความรู้ โดยถ่ายทอดวิชาการโบราณคดีและวิชาการพิพิธภัณฑสถานจากพระองค์ ผู้ที่ได้รับการฝึกสอนในขั้นแรกนั้น คือ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ คณบดีคนแรกของคณะโบราณคดี
. สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความรักและห่วงใยในพิพิธภัณฑสถานนี้มาก คราวที่พระองค์ต้องเสด็จไปอยู่ปีนัง ได้รับสั่งถึงหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ว่า
“ฉันรักหลวงบริบาลฯ เท่าไร หลวงบริบาลฯ ทราบอยู่แล้ว ถ้ารักฉันตอบ ขอให้พยายามบำรุงรักษาพิพิธภัณฑสถานซึ่งเป็นของรักของฉันให้ถาวรต่อไป ดีกว่าสนองคุณด้วยประการอย่างอื่น”
(ลายพระหัตถ์ถึงหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘)
. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ ด้วยโรคพระหทัยพิการ
“””””””””””””””””””””””””””””””””””””
. จะเห็นได้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีคุณูปการต่อประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยอย่างมาก จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และนอกจากนี้ยังทรงได้รับการถวายพระนามเป็น "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย" โดยกำหนดให้วันที่ ๑ ธันวาคมของทุกปี เป็น "วันดำรงราชานุภาพ" ค่ะ แล้วพบกันใหม่ในองค์ความรู้รอบหน้านะคะ
--------------------------
เอกสารอ้างอิง
จิรัสสา คชาชีวะ. (2555). “โบราณคดีจากลายพระหัตถ์” ใน ๑๕๐ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพัฒนาการโบราณคดีไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, หน้า 57-75.
ดำรงราชานุภาพ.”ลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพถึง ศาสตราจารย์หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์, สกุลบริบาลบุรีภัณฑ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๕. กรงุ เทพฯ : โรงพิมพ์ ร.ส.พ., ๒๕๒๙, หน้า ๑๒.
------------------------------------------
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
เปิดให้บริการทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.
e-mail: cm_museum@hotmail.com
สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือ โทรศัพท์ : 053-221308
For more information, please leave your message via inbox or call: +66 5322 1308+