ระบบชลประทานและเหมืองฝายของชาวล้านนา
จำนวนผู้เข้าชม 2915

ระบบชลประทานและเหมืองฝายของชาวล้านนา
ภาคเหนือของประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสลับที่ราบมีแม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนมักอาศัยบริเวณพื้นที่ราบสองริมฝั่งน้ำเพื่อทำการเกษตรและสร้างบ้านเมือง ในหน้าแล้ง น้ำในแม่น้ำจะลดระดับต่ำลง ทำให้เกิดการคิดค้นวิธีกักเก็บน้ำและแบ่งสรรปันน้ำโดยสร้างระบบชลประทานแบบภูมิปัญญาชาวบ้านขึ้น คือการสร้างฝายและต่อมาจึงได้คิดค้นเครื่องกั้นลำน้ำสู่พื้นที่ไร่นา เพื่อแบ่งปันน้ำ กักเก็บน้ำ และระบายน้ำออก โดยมี "แก่ฝาย" เป็นผู้ควบคุมและจัดการน้ำ
ฝาย  หรือเหมืองฝาย เกิดจากการสังเกตระดับน้ำที่ขึ้นลงตามฤดูต่างๆ เช่น ฤดูฝน ระดับน้ำขึ้นสูงท่วมตลิ่ง ส่วนหน้าแล้งระดับน้ำลดลงมากจนไม่สามารถใช้น้ำเลี้ยงพืชผลไร่นาได้ ชาวบ้านจึงร่วมกันใช้ไม้ไผ่จำนวนมากตอกเรียงซ้อนเหลื่อมขวางกั้นลำน้ำ เรียกว่า "หลักฝาย"
แต คือทำนบกั้นน้ำในลำเหมืองใหญ่ เพื่อแบ่งน้ำเข้าสู่ลำเหมืองเล็ก และอีกส่วนจะล้นท่วมสู่ลำเหมืองใหญ่ แตสร้างขึ้นโดยคนกลุ่มขนาดเล็ก และใช้ชื่อคนที่ได้น้ำเข้าถึงที่นาก่อนเป็นชื่อเรียก เช่น แตปู่หมื่น คือ มีนายหมื่นเป็นหัวหน้าในการสร้าง และปันน้ำไปถึงคนอื่นๆ ๔ - ๕ คนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
ปุม คือคันทดน้ำในลำเหมืองขนาดเล็กมาก เป็นคันดินที่มีช่องให้น้ำไหลผ่านได้เพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนเข้าสู่ไร่ คนที่สร้างปุม จะสร้างกับพื้นที่ที่ใกล้ชิดกันและใช้น้ำร่วมปุมเดียวกันเท่านั้น
เมื่อน้ำเข้าสู่แปลงนาแล้ว ชาวนาจะใช้น้ำอยู่ประมาณ ๑๐ - ๑๕ วัน เพื่อทำการปลูกข้าว จากนั้นจึงจะระบายน้ำออก โดยมีวิธีการ ๓ ลักษณะดังนี้
๑. ข่าง คือการเปิดน้ำให้ผ่านสู่ต๊าง (ช่องทางน้ำผ่านคันนา) เข้านาให้น้ำไหลผ่านเต็มที่ ชาวล้านนาเรียกว่า การข่างน้ำนา หมายถึง การระบายน้ำ
๒. ยอย คือการระบายน้ำทีละน้อยๆ หรือก็คือการทยอยแบ่งน้ำให้มีระดับที่เท่าๆกัน
๓. ลดน้ำ คือ การเปิดให้น้ำที่ใช้แล้ว หรือน้ำที่เหลือกลับสู่ลำเหมือง
การจัดการระบบน้ำมีความสำคัญต่อวิธีการดำรงชีวิตของชาวบ้าน จนเกิดการสร้างหอผีฝายและพิธีเลี้ยงผีฝาย เป็นพิธีกรรมเพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาฝาย ซึ่งพิธีมักจัดขึ้นช่วงวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๙ ทุกปี บริเวณลำน้ำปิง เหมืองฝายพญาคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นฝายดั้งเดิมครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน นอกจากนั้น ยังมีฝายในพื้นที่อื่นๆ เช่น ฝายวังไฮ ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นฝายที่ใช้หล่อเลี้ยงเกษตรกรรมใน ๓ หมู่บ้านคือ บ้านม่วงฆ้อง บ้านดง  และบ้านทุ่งหลุก
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ :
๑. หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
๒. หนังสือ เรื่องบ่าเก่าเล่าล้านนา เหมืองฝาย แม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง
อ้างอิง :
๑. นิคม พรหมมาเทพย์. มปป. เรื่องบ่าเก่าเล่าล้านนา เหมืองฝาย แม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง. มปท.
๒. ชัชวาล ทองดีเลิศ. ๒๕๖๒. เหมืองฝาย มรดกภูมิปัญญาจัดการน้ำของคนเหนือ (Online). https://thecitizen.plus/node/๒๖๔๗๐, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔.
๓. องศาเหนือ. ๒๕๖๓. เสวนานวัตกรรมการจัดการเหมืองฝายพญาคำ : จากอดีตสู่ปัจจุบัน (Online). https://thecitizen.plus/node/๓๒๓๖๓, สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔.