ตราดินเผารูปสิงห์ พบจากเมืองโบราณอู่ทอง
จำนวนผู้เข้าชม 1769


          ตราดินเผารูปสิงห์ พบจากเมืองโบราณอู่ทอง นายเรวัตร ธรรมจักร มอบให้เมื่อ ๙ มีนาคม ๒๕๐๔ จัดแสดง ณ ห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
          ตราดินเผารูปกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๒ เซนติเมตร หนา ๒.๒ เซนติเมตร ผิวหน้ามีรอยประทับเป็นนูนต่ำรูปสิงห์ มองเห็นด้านข้าง โดยสิงห์นั่งหันหน้าไปทางด้านขวา สิงห์มีตากลมโต จมูกกลม อ้าปาก มีแผงคอลักษณะเลียนแบบธรรมชาติ ขาหน้าเหยียดตรง ขาหลังพับงอนั่งลงกับพื้น หลังเอนลาดลง หางยกตั้งขึ้น รูปสิงห์บนตราประทับนี้แสดงลักษณะทางกายวิภาคและท่านั่งที่ค่อนข้างสมจริงตามธรรมชาติ ด้านหน้าของสิงห์มีรูปนูนต่ำ อาจเป็นสัญลักษณ์มงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ลบเลือนมากไม่สามารถระบุได้แน่ชัด ด้านข้างของตราดินเผามีรอยประทับเป็นรูปทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๖ เซนติเมตร ภายในเป็นรอยประทับนูนต่ำรูปสิงห์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับสิงห์ที่อยู่ด้านหน้าตราดินเผา
          สิงห์เป็นสัตว์มงคลที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับศาสนา ตามคติในศาสนาพุทธ สิงห์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นสิงห์แห่งศากยวงศ์ ทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีอำนาจและพละกำลัง เป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์และความดี พบมากในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี ทั้งในประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นประดับศาสนสถาน ประติมากรรมรูปสัตว์ที่สันนิษฐานว่าเป็นส่วนประดับฝาภาชนะ และตราดินเผา นอกจากนี้ที่เจดีย์หมายเลข ๑๓ เมืองโบราณอู่ทอง ยังพบประติมากรรมสำริดรูปสิงห์ที่มีรูปแบบลักษณะและท่านั่งที่คล้ายคลึงกับรูปสิงห์บนตราประทับนี้ด้วย
          ตราดินเผารูปสิงห์ลักษณะคล้ายคลึงกันนี้พบมาแล้วในศิลปะอินเดียแบบคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ หรือประมาณ ๑,๕๐๐ – ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว) และหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ หรือประมาณ ๑,๓๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว) จึงสันนิษฐานว่าตราดินเผารูปสิงห์นี้เป็นของที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยคนพื้นเมืองทวารวดี โดยรับอิทธิพลทางด้านรูปแบบและคติความเชื่อมาจากอินเดีย อาจใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือเป็นชนชั้นสูง รวมถึงอาจใช้เป็นเครื่องรางเพื่อความเป็นสิริมงคล กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว

------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมือง โบราณ, ๒๕๖๒. อนันต์ กลิ่นโพธิ์กลับ. “การศึกษาความหมายและรูปแบบตราประทับสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสต รมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๗.